คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน | เอกสาร |
แผนการสอนที่ 9: การหาเส้นโค้งเอสดีและเทคนิคการกระตุ้น (เวลา 4 คาบ)

 

1 ความคิดรวบยอด
       เส้นโค้งเอสดี (SD curve) เป็นเส้นโค้งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความแรงหรือความเข้มของตัวกระตุ้นและความยาวของเวลาที่กระตุ้นที่ให้เกิดการตอบสนองต่อเนื่อเยื่อที่คงที่ ในทางไฟฟ้าบำบัดเส้นโค้งเอสดีหมายถึงเส้นโค้งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความแรงของไฟ(มีหน่วยเป็นมิลลิโวลต์ หรือมิลลิแอมแปร์) กับความยาวของช่วงกระตุ้น (มีหน่วยเป็นมิลลิวินาที) ที่ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวที่คงที่ โดยทั่วไปมักใช้ขนาดความแรงของกระแสไฟที่ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อที่น้อยที่สุด ในทางคลินิกมักใช้เส้นโค้งเอสดีในการหา กระแสไฟที่เหมาะสมในการกระตุ้น (utilization time), ใช้คำนวณหาค่ากระแสไฟที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดการตอบสนอง (rheobase), ช่วงการกระตุ้นที่ใช้ไฟเป็น 2 เท่าของ rheobase, (chronaxie) และค่าการปรับตัวของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท (accommodability)

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
        1. อธิบายลักษณะเฉพาะของเส้นโค้งเอสดี
        2. อธิบายการประยุกต์ใช้เส้นโค้งเอสดีทางคลินิก
        3. แสดงวิธีการกระตุ้นเพื่อหาเส้นโค้งเอสดี

3. เนื้อหา

   1. เส้นโค้งเอสดีทางไฟฟ้าบำบัดหมายถึง เส้นโค้งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความแรงของการกระตุ้นกับช่วงกระตุ้น โดยสังเกตการหดตัวของกล้ามเนื้อที่น้อยที่สุด
   2. ทางคลินิกมักใช้เส้นโค้งเอสดีในการคำนวณหาค่า rheobase, chronaxie, utilization time, accomodabiliby
   3. ค่า rheobase คือ ความแรงของไฟที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อมากที่สุด
   4. ค่า chronaxie คือเวลาที่ใช้ความแรงของไฟเป็น 2 เท่าของ rheobase ในทางคลินิกมักใช้ค่า chronaxie ในการพยากรณ์ระดับความรุนแรงหรือการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
   5. ค่า utilization time คือเวลาที่น้อยที่สุดที่ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการตอบสนองโดยใช้ความแรงการกระตุ้นที่น้อยที่สุด มักเป็นจุดที่อยู่บริเวณจุดเปลี่ยนโค้งของเส้นโค้งเอสดี ในทางคลินิกมักใช้จุด utilization เป็นค่ากำหนดช่วงกระตุ้นและความแรงกระตุ้นในการกระตุ้นเนื่องจากเป็นจุดที่ใช้ความแรงของไฟและช่วงกระตุ้นที่น้อยที่สุดทำให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อไฟฟ้าน้อยที่สุด
   6. ค่า accomodability คืออัตราส่วนของความแรงกระแสไฟฟ้าชนิดสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมที่ช่วงกระตุ้น 1000 มิลลิวินาที ในทางคลินิกมักใช้พิจารณาความไวของการปรับตัวของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
   7. วิธีการหาเส้นโค้งเอสดี สามารถทำได้โดย วางขั้วกระตุ้นมือถือบริเวณจุดมอเตอร์ ปรับความแรงของไฟที่ใช้กระตุ้นให้มากพอที่เห็นการหดตัว ที่ช่วงการกระตุ้นที่ 1000 มิลลิวินาที หรือยาวที่ยาวที่สุดที่ผู้ถูกกระตุ้นทนได้ (กรณีที่ไม่สามารถกระตุ้นที่ช่วงกระตุ้น 1000 มิลลิวินาที) บันทึกค่าความแรงของกระแสไฟ จากนั้นค่อยๆ ลดช่วงกระตุ้นลงที่ 300, 100, 30, 10, 3, 1, 0.3, 0.1 มิลลิวินาที ตามลำดับ โดยขณะที่ลดช่วงกระตุ้นต้องเพิ่มความแรงของไฟให้มากพอที่จะเห็นการหดตัวของกล้ามเนื้อที่เท่ากันตลอด นำค่าที่ได้มาเขียนกราฟแสดงความสัมพันธ์โดยแกนตั้งเป็นค่าความแรงของไฟที่กระตุ้น ส่วนแกนนอนเป็นค่าความยาวของช่วงกระตุ้น
   

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
    
    4.1 ขั้นนำ

   ผู้สอนทบทวนเรื่องการหาจุดมอเตอร์ เทคนิคการหา และชี้ประเด็นให้เห็นประโยชน์สำคัญของการหาจุดมอเตอร์ในการทำเส้นโค้งเอสดี จากนั้นแจ้งวัตถุประสงค์และกิจกรรมการเรียนการสอน
  
   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
   ผู้สอนสาธิตลำดับขั้นตอนของทำเส้นโค้งเอสดี โดยใช้อาสาสมัครจากผู้เรียนเป็นหุ่น และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนสังเกต บันทึกลำดับขั้นตอนการทำเส้นโค้งเอสดี หากมีข้อสงสัยก็ให้ผู้เรียนสอบถามให้เกิดความกระจ่างได้ทันที จากนั้นผู้สอนแจกใบงานซึ่งเป็นประเด็นปัญหาให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อย

   4.2.1 ขั้นพัฒนาทักษะ
    ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติการเองโดยการจับคู่กับเพื่อนสลับเป็นหุ่นและผู้กระตุ้น พยายามกระตุ้นตามคู่มือปฏิบัติการจนเกิดความมั่นใจ รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการกระตุ้น
    ผู้สอนแจกใบงานซึ่งเป็นประเด็นปัญหาให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อย

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
   ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพังห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน ผู้เรียนสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารประกอบการสอนหรือหนังสือในห้องสมุดเพิ่มเติมได้ โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและตอบประเด็นปัญหาในใบงานอย่างไตร่ตรอง และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหาและหาคำตอบในใบงานเป็นคำพูดของตนเอง และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มย่อยต่อไป

    4.2.3 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่นโดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.4 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
   ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียนให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ โดยผู้สอนเร่งเร้าการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ร่วมกันอภิปรายแสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
         ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
         เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน
   
    4.4 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
    ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนร่วมกันหาเส้นโค้งเอสดี ของกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง พร้อมกับลำดับขั้นตอน ปัญหาและอุปสรรค และเปรียบเทียบเส้นโค้งเอสดีที่ได้จากกล้ามเนื้อปกติ และกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง


5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์


แนวคำถามแผนการสอนที่ 9


    1. เส้นโค้งเอสดี คืออะไร มีความสำคัญทางคลินิกอย่างไร จงอธิบายและยกตัวอย่างกรณีต่างๆ อย่างสมเหตุสมผล
    2. สุจริตได้รับการผ่าตัดเส้นประสาทเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากถูกกระจกบาดจนเส้นประสาททีบริเวณต้นแขนได้รับบาดเจ็บ เมื่อทำเส้นโค้งเอสดีเมื่อเช้านี้ ผลปรากฏว่าเส้นโค้งเอสดีกลับเป็นเส้นโค้งเหมือนเส้นประสาทปกติ ท่านคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เส้นโค้งเอสดีจะปกติทั้งๆที่มีการบาดเจ็บของเส้นประสาท จงอธิบายและยกตัวอย่างที่เป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผล
    3. ค่าต่างๆที่หาได้จากเส้นโค้งเอสดี ได้แก่ค่าอะไรบ้าง มีความสำคัญทางคลินิกอย่างไร
    4. หากใช้กระแสไฟรูปสามเหลี่ยมจะต้องใช้กระแสไฟกระตุ้นมากกว่ากระแสไฟรูปสี่เหลี่ยมเสมอ ท่านเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายถึงความเป็นไปได้ของประเด็นดังกล่าว


ใบงานแผนการสอนที่ 9
-------------------------------------------------------------

1. คำชี้แจง
   1. หลังจากนักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการ หาเส้นโค้งเอสดีแล้ว ให้พิจารณาประเด็นปัญหาที่ให้ โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาหารือผู้อื่น ใช้เวลา ประมาณ 20 นาที
   2. จากนั้นให้นักศึกษารวมกลุ่มย่อย และปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลาประมาณ 20 นาที
  3. นำเสนอข้อสรุปที่ได้ในกลุ่ม ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------


  1) จงให้คำจำกัดความของเส้นโค้งเอสดีที่ท่านคิดว่าเหมาะสมที่สุด
  2) เส้นโค้งเอสดีของกล้ามเนื้อปกติ (innervated m) กล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยงบางส่วน (partial denervated m) และกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทสมบูรณ์ (complete denervated m) มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบาย และเขียนกราฟประกอบคำอธิบายอย่างสมเหตุสมผล
  3) ท่านคิดว่า เส้นโค้งเอสดีของเส้นประสาทรับความรู้สึกสัมผัส (tactile) ของกล้ามเนื้อ (motor) และของเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด (pain) มีความแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบายและเขียนกราฟประกอบคำอธิบายอย่างสมเหตุสมผล
  4) ท่านคิดว่าเส้นโค้งเอสดีมีประโยชน์อย่างไร จงอธิบายประโยชน์ของเส้นโค้งเอสดีทางคลินิกอย่างสมเหตุสมผล
  5) ลำดับขั้นตอนของการหาเส้นโค้งเอสดีของท่าน เป็นอย่างไร
       1. เพราะเหตุใด จึงมีลำดับขั้นตอนดังกล่าว
       2. เทคนิคที่ดีที่สุดในการหาเส้นโค้งเอสดีเป็นอย่างไร
       3. มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้างขณะฝึกปฏิบัติการ
       4. ท่านเห็นด้วยกับลำดับขั้นตอนที่ผู้สอนสาธิตไว้หรือไม่อย่างไร
  6) จากเส้นโค้งเอสดีที่ได้ ท่านสามารถหาค่าต่างๆ ดังต่อไปนี้ได้หรือไม่ อย่างไร และค่าต่างๆมีความสำคัญอย่างไร
       1. rheobase
       2. chronaxie
       3. utilization time
       4. accomodability
  7) ท่านสามารถหาค่า chronaxie จากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยไม่ต้องเขียนกราฟเส้นโค้งเอสดีได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายวิธีดังกล่าว
  8) ท่านสามารถอธิบายปัญหา/อุปสรรค/แนวทางแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ได้หรือไม่ อย่างไร
       1. เส้นโค้งที่ได้ไม่มีลักษณะโค้งเหมือนในหนังสือ
       2. กระตุ้นแล้วผู้ถูกกระตุ้นรู้สึกเจ็บมาก และทนไม่ไหว
       3. ผู้ถูกกระตุ้นรู้สึกเจ็บแสบ และคันบริเวณที่ถูกกระตุ้นมาก
       4. อื่นๆ

-----------------------------------------------------------

 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |