คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน | เอกสาร |
แผนการสอนที่ 11-14: การกระตุ้นด้วยกระแสTENS, Diady, HVGC, IFC (เวลา 4 คาบ)

 

1 ความคิดรวบยอด
       กระแสทีอีเอ็นเอ็ส (TENS) เป็นกระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆชนิดหนึ่งที่มีช่วงกระตุ้น 0.5 มิลลิวินาที โดยมีรูปคลื่นกระแสแบบสามเหลี่ยนและสี่เหลี่ยม ซึ่งมีทั้งกระแสไฟชนิดเฟสเดียวและเฟสคู่ ทางการแพทย์และกายภาพบำบัดมักนิยมใช้กระแสทีอีเอ็นเอสเพื่อการระงับปวด

       กระแสไดอะไดนามิกส์ (Diadynamic) เรียกย่อว่า Diady เป็นกระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆ มีความถี่ประมาณ 50 เฮิรตซ์ ซึ่งพัฒนามาจากกระแสไฟสลับ ความถี่ 50 เฮิรตซ์ ดังนั้นจึงมีคลื่นไฟฟ้าเป็นรูปครึ่งรูปซายด์ มักนิยมใช้เพื่อการระงับปวด และเพิ่มการไหลเวียนบริเวณข้อต่อและกล้ามเนื้อ

       กระแสไฟตรงศักย์สูง (high voltage current) เรียกย่อว่า HVGC เป็นกระแสที่มีช่วงกระตุ้นสั้นมากประมาณ 5-7 ไมโครวินาที แต่มีช่วงความเข้มกระแสสูงประมาณ 200-500 โวลต์ ลักษณะกระแสเป็นกระแสไฟเฟสเดียว ซึ่งมีทั้งปล่อยออกอย่างต่อเนื่องและปล่อยออกเป็นชุดๆ ในหนังสือบางเล่มอาจจัดกระแส HVGC เป็นกระแสไฟ high frequency TENS

       กระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียล (interferential ) หรือเรียกย่อว่า IFC เป็นกระแสไฟสลับชนิดหนึ่งที่เกิดจากแทรกสอดของกระแสสลับ 2 ขบวน ที่มีความถี่ใกล้เคียงกัน จนทำให้เกิดกระแสผลลัพธ์ที่มีความถี่เฉลี่ยระหว่างกระแสสองขบวน และความถี่บีตส์ที่เกิดจากผลต่างของกระแสสองขบวน ในปัจจุบันกระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลมักนิยมกระตุ้นเพื่อการระงับความรู้สึกเจ็บปวด และการฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อปกติ

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
        1. อธิบายลักษณะเฉพาะของกระแส TENS,Diady,HVGC,IFC
        2. อธิบายชนิด ประโยชน์ ข้อบ่งชี้และข้อควรระวัง ของกระแส TENS,Diady,HVGC,IFC ที่ใช้ทางคลินิกปัจจุบัน
        3. แสดงวิธีการกระตุ้นด้วยกระแส TENS,Diady,HVGC,IFC ทางกายภาพบำบัด

3. เนื้อหา

3.1 กระแส TENS   
     1. กระแสทีอีเอ็นเอส เป็นกระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆชนิดหนึ่งที่มีช่วงกระตุ้นน้อยกว่า 0.5 มิลลิวินาที ลักษณะคลื่นกระแสไฟมีทั้งแบบกระแสไฟเฟสเดียว และเฟสคู่
     2. ชนิดกระแสทีอีเอ็นเอสในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ และมีการเรียกชื่อแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น 1)กระแส conventionl TENS หรือ high TENS, 2) acupuncture TENS หรือ low TENS, 3)brief intense TENS, 4)Burst of pulse TENS, 5) modulated TENS เป็นต้น อย่างไรก็ตามตำราบางเล่มได้แบ่งชนิดของกระแสทีอีเอ็นเอสตามลักษณะของคลื่นไฟฟ้าเป็น 2 ชนิดได้แก่ 1)กระแส modulate frequency TENS และ 2) กระแส modulate amplitude TENS เป็นต้น
     3. กระแสทีเอ็นเอสมักนิยมกระตุ้นเพื่อการระงับปวด ทั้งชนิดระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง
     4. เทคนิคการกระตุ้นเพื่อการระงับปวด ยึดหลักการกระตุ้นเพื่อการระงับปวดด้วยกระแสไฟฟ้าดังได้เรียนมาแล้วในบทที่แล้ว
  

3.2 กระแส Diady
     1.กระแสไดอะไดนามิกส์ เป็นกระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆชนิดหนึ่งที่มีช่างกระตุ้นประมาณ 10 มิลลิวินาที ความถี่ประมาณ 50 เฮิรตซ์ ลักษณะคลื่นกระแสไฟหลักจะมีลักษณะครึ่งรูปซายด์
     2.ชนิดของกระแสไดอะไดนามิกส์แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะหลัก คือ 1) กระแสแบบต่อเนื่อง และ 2 กระแสที่มีการปรับแต่งความถี่ (frequency modulation) ซึ่งแบ่งได้เป็น กระแสดีเอฟ กระแสเอ็มเอฟ กระแสซีพี และการะแสอาร์เอ็ส เป็นต้น
     3.ผลของกระแสไฟไดอะไดนามิกส์มักทำให้เกิด การหดตัวของกล้ามเนื้อ การกระตุ้นประสาทรับสัมผัส การกระตุ้นประสาทอัตโนมัติ และผลการระงับปวด ซึ่งในปัจจุบันกระแสไดอะไดนามิกส์มักได้รับความนิยมกระตุ้นเพื่อการระงับปวด โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อ
     4.การเลือกใช้ชนิดของกระแสขึ้นกับความรุนแรงและพยาธิสภาพของโรคที่ใช้ มักนิยมใช้รูปแบบกระแสที่ให้ความรู้สึกสบายก่อนแล้วจึงใช้กระแสที่มีความแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเริ่มจาก DF, LP, CP Cpid และ MF ตามลำดับ
     5.เทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไดอะไดนามิกส์สามารถใช้ได้ทั้งเทคนิค bipolar และ monopolar โดยมักนิยมใช้ขั้วกระตุ้นมือถือชนิด 2 ขั้ว
     6. เนื่องจากกระแสไฟไดอะไดนามิกส์เป็นกระแสที่มีช่วงพักน้อยจึงทำให้กระแสเฉลี่ยมีค่าสูงมักเกิดการไหม้พองจากกระแสไฟฟ้าอยู่เสมอ จึงควรระวังไม่ใช้เวลากระตุ้นนานเกินไป และไม่ควรวางไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งนานเกินไป (5-6 นาที) เป็นต้น

3.3 กระแส HVGC
      1. กระแสไฟตรงศักย์สูง เป็นกระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆชนิดหนึ่ง ที่มีช่างกระตุ้นประมาณ 5-75 ไมโครวินาที แต่มีความเข้มกระแส 200-500 โวลต์ โดยมีลักษณะของรูปคลื่นทั้งแบบเฟสเดียว เฟสคู่ และหลายเฟส
      2.เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากระแสไฟตรงศักย์สูงสามารถปรับชนิดกระแสให้ปล่อยออกอย่างต่อเนื่อง (train) และปล่อยออกเป็นชุด (surge) ตามลักษณะการใช้งาน
      3.ผลของกระแสไฟตรงศักย์สูงมักทำให้เกิด การหดตัวของกล้ามเนื้อและผลการระงับปวด ซึ่งในปัจจุบันกระแสไฟตรงศักย์สูงมักนิยมเพื่อการระงับปวด และฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อปกติ
      4.เนื่องจากช่วงกระตุ้นของกระแสไฟตรงศักย์สูงสั้นมากเกินกว่าจะทำให้เกิดการตอบสนองในกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยงจึงไม่นิยมใช้กระตุ้นในกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง ในปัจจุบันมักนิยมใช้กระแสไฟตรงศักย์สูงเพื่อการกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงเนื่องจากช่วงกระตุ้นสั้น (ไม่เจ็บ) และสามารถเพิ่มความแรงของกระแสให้สูงพอเพื่อให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ (maximum contraction) เพื่อให้เกิดผลของการฝึก

3.4 กระแส IFC
      1. กระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลเป็นกระแสไฟสลับ ที่เกิดจากการแทรกสอดของกระแสไฟสลับ 2 ชุด ที่มีความถี่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดกระแสผลลัพธ์ที่เป็นกระแสสลับที่มีความถี่เหมาะสมสำหรับการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
      2. ความถี่ของกระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลมี 2 แบบ คือ ความถี่ของกระแสที่เป็นความถี่เฉลี่ยของคลื่น 2 ชุด ที่มีลักษณะเป็นคลื่นพาหะสามารถส่งผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย และความถี่บีตส์ซึ่งเกิดจากการรวมแอมพลิจูดของคลื่นทั้งสอง ณ แต่ละจุดแบบเวคเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
      3. ชนิดของกระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลแบ่งตามลักษณะการแทรกสอดออกเป็น 2 ชนิด1)กระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลชนิดที่แทรกสอดภายในเครื่อง ซึ่งเกิดเป็นคลื่นผลลัพธ์ส่งออกไปกระตุ้นเนื้อเยื่อ จึงใช้ขั้วกระตุ้นเพียง 2 ขั้ว 2)กระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลชนิดแทรกสอดภายนอกเครื่อง ซึ่งตัวเครื่องจะให้กระแสสลับ 2 ชุด แทรกสอดภายนอกเครื่อง จึงจำเป็นต้องใช้ขั้วกระตุ้น 2 ชุด (4 ขั้ว) เพื่อวางบนผิวหนัง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ กระแสชนิดความถี่บีตส์คงที่ กระแสชนิดแปรความถี่บีตส์ และกระแสชนิดสแกนหรือแปรความแรง
      4. เนื่องจากการใช้กระแสอินเตอร์เฟอเรนจำเป็นต้องใช้ขั้วกระตุ้นมาก และหากจำเป็นต้องวางบนผิวหนังที่เป็นบริเวณกว้างไม่สะดวกที่จะใช้สายรัด จึงนิยมใช้ขั้วกระตุ้นชนิดดูด
      5.ผลของกระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลมักทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อและผลการระงับปวด ซึ่งในปัจจุบันกระแสไฟตรงศักย์สูงมักนิยมเพื่อการระงับปวด และฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อปกติ
      6.เนื่องจากช่วงกระตุ้นของกระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลสั้นมากเกินกว่าจะทำให้เกิดการตอบสนองในกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง จึงไม่นิยมใช้กระตุ้นในกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง
     7.ปัจจุบันมักนิยมใช้กระแสอินเตอร์เฟอเรนเชียลเพื่อการกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงเนื่องจากช่วงกระตุ้นสั้น (ไม่เจ็บ) และสามารถเพิ่มความแรงของกระแสให้สูงพอเพื่อให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ (maximum contraction) เพื่อให้เกิดผลของการฝึก เช่นเดียวกับกระแสไฟตรงศักย์สูง

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
      เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าซึ่งให้กระแสแต่ละชนิดมีจำนวนน้อย การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแผนการสอนนี้จึงจัดเป็นฐานการเรียนรู้ตามชื่อของกระแส ได้ 4 ฐาน ได้แก่ ฐาน TENS, Diady, HVGC และ IFC ตามลำดับ
      ให้แต่ละกลุ่มย่อยส่งตัวแทนกลุ่มละ 1 คน เพื่อศึกษาการใช้เครื่องในแต่ละฐาน โดยกำหนดให้ สมาชิกหมายเลข 1, 2, 3, 4 ของแต่ละกลุ่ม ศึกษาการใช้เครื่อง TENS, Diady, HVGC และ IFC ตามลำดับ ก่อนมีการจัดการเรียนการสอน เพื่อผู้สอนจะได้แนะนำการใช้เครื่องแต่ละชนิดให้กับตัวแทนในแต่ละกลุ่มย่อย ซึ่งตัวแทนแต่ละคนต้องทำการฝึกให้เกิดความชำนาญ และเชี่ยวชาญในเครื่องแต่ละชนิด เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้สมาชิกในกลุ่มระหว่างการฝึกปฏิบัติการต่อไป
    
    4.1 ขั้นนำ

     ผู้สอนทบทวนเรื่องการกระตุ้นเพื่อการระงับปวดด้วยกระแสไฟฟ้า และอธิบายถึงชนิดของกระแสที่ใช้สำหรับการลดปวด จากการทำการทดลองคราวที่แล้ว
  
   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
   ผู้สอนได้ชี้แจงลำดับขั้นตอนการฝึกปฏิบัติ โดยแบ่งเครื่องชนิดต่างๆออกเป็นฐานการเรียนรู้ได้ 4 ฐาน คือ ฐาน TENS, Diady, HVGC และ IFC ตามลำดับ
   จากนั้นผู้สอนได้แบ่งกลุ่มผู้เรียนเข้าฐานการเรียนรู้ตามความเหมาะสม

     4.2.1 ขั้นพัฒนาทักษะ
      ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติการเอง โดยการจับคู่กับเพื่อนสลับเป็นหุ่นและผู้กระตุ้น แนะนำให้แต่ละคู่ทำปฏิบัติการที่ 11-14 โดยทำการศึกษาและบันทึกผลการปฏิบัติการในตารางที่ให้
      ผู้สอนแจกใบงานให้กับผู้เรียนในกลุ่มย่อยแต่ละฐาน

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
     ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน ผู้เรียนสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารประกอบการสอนหรือหนังสือในห้องสมุดเพิ่มเติมได้ โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและตอบประเด็นปัญหาในใบงาน อย่างไตร่ตรอง และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหาและหาคำตอบในใบงานเป็นคำพูดของตนเอง และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มย่อยต่อไป

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่นโดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
   ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียนให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ โดยผู้สอนเร่งเร้าการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ร่วมกันอภิปรายแสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
         ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
         เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน

   4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ 
   1.ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติการเอง โดยการจับคู่กับเพื่อนสลับเป็นหุ่นและผู้กระตุ้น โดยการกระตุ้นกล้ามเนื้อบริเวณแขน ด้วยกระแสไฟฟ้าชนิดต่างๆ โดยใช้เทคนิคกระตุ้นหลายชนิด ตามคู่มือปฏิบัติการจนเกิดความมั่นใจ รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการกระตุ้น
   2.ร่วมกลุ่มย่อย เพื่ออภิปรายผลและปัญหาที่แต่ละคนพบจากการฝึก สรุปปัญหา และส่งตัวแทนเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาที่ได้รับมอบหมาย   3.เปรียบเทียบกับชนิดของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทแต่ละชนิด
   
5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์


ใบงานแผนการสอนที่ 11-14
-------------------------------------------------------------

1. คำชี้แจง
   1. หลังจากนักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการกระตุ้นด้วย TENS, Diady, HVGC, IFC แล้ว ให้พิจารณาประเด็นปัญหาที่ให้ โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาหารือผู้อื่น ใช้เวลา ประมาณ 15 นาที
   2. จากนั้นให้นักศึกษารวมกลุ่มย่อย และปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลาประมาณ 20 นาที
  3. นำเสนอข้อสรุปที่ได้ในกลุ่ม ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------

1) TENS
       1. ขณะกระตุ้นด้วยกระแส TENS หากปรับความแรงของกระแสจนถึง motor threshold ท่านคิดว่าจะเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อหรือไม่? เพราะเหตุใด?
       2. ท่านคิดว่าหากกระตุ้นกระแส TENS อย่างต่อเนื่องไปนานๆ จะเกิดปฏิกิริยาเคมีใต้ขั้วกระตุ้นหรือไม่? เพราะเหตุใด?
       3. ท่านคิดว่าวิธีการวางขั้วกระตุ้นเพื่อระงับปวดแบบใด ได้ผลการระงับปวดดีที่สุด? เพราะเหตุใด?
       4. การระงับปวดครั้งหนึ่งๆ ควรใช้เวลานานเท่าใด

2) Diadynamic
       1. เพราะเหตุใดจึงต้องใช้ผ้าหนา รองใต้ขั้วกระตุ้นขณะกระตุ้นด้วยกระแสไฟ diady
       2. เหตุใดเครื่องกระตุ้น diady จึงมักไม่มีปุ่มปรับช่วงกระตุ้นและปรับความถี่
       3. กระแสไฟ diady ชนิดใดมีค่าความแรงสูงสุด ขณะที่ผู้ถูกกระตุ้นทนไม่ได้ เพราะเหตุใด? และกระแสไฟดังกล่าวเหมาะสำหรับระงับปวดชนิดใด?
       4. ผิวหนังภายใต้ขั้วกระตุ้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
       5. ท่านคิดว่าระยะเวลาเท่าใดที่เหมาะสำหรับการกระตุ้นด้วยไฟ diady เพราะเหตุใด?
       6. เพราะเหตุใดกระแส MF จึงเกิด accommodation ต่อเส้นประสาทได้ช้ากว่ากระตุ้นด้วยกระแส DF
       7. เพราะเหตุใดกระแสไฟ diady จึงมักทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อร่วมด้วยเสมอหากวางขั้วกระตุ้นไว้ที่กล้ามเนื้อ
       8. Galvanic base current คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? ท่านสามารถเขียนกราฟกระแส diady ที่มี galvanic base current ร่วมด้วยได้หรือไม่
       9. หากปรับความเข้มกระแสเท่ากัน ท่านสามารถเรียงลำดับความรู้สึกของกระแสที่รุนแรงจากมากไปน้อยได้หรือไม่ จงเขียนชนิดกระแส diady ที่มีความรุนแรงจากมากมาน้อย

3) HVGC
       1. HVGC ต่างจากกระแสไฟ IDC ที่ใช้ทั่วไปอย่างไร
       2. หากใช้กระแส HVGC กระตุ้นต่อไปเรื่อยๆ เป็นเวลานาน ท่านคิดว่าจะเกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าใต้ขั้วกระตุ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด?
       3. เครื่องกระตุ้น HVGC จึงไม่มีปุ่มปรับช่วงกระตุ้น
       4. การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟ HVGC จำเป็นต้องรองผ้าหนาใต้ขั้วกระตุ้นเหมือนการกระตุ้นด้วยกระแสไฟ IDC ชนิดอื่นๆหรือไม่ เพราะเหตุใด?
       5. ท่านสามารถเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างกระแสไฟ HVGC และไฟ IDC อื่นๆ

4) IFC
       1. หากใช้กระแส IFC ที่มีความถี่เฉลี่ย 4005 เฮิรตซ์ และเกิดความถี่บีตส์ประมาณ 100 เฮิรตซ์ ท่านทราบหรือไม่ ช่วงกระตุ้นของความถี่ทั้งสองมีค่าเท่าไร?
       2. จงอธิบายความแตกต่างของกระแสไฟ IFC ที่ใช้ 2 ขั้ว และ 4 ขั้ว
       3. ท่านสามารถอธิบายความแตกต่างระหว่าง frequency modulation และ amplitude modulation ได้หรือไม่
       4. 4. ท่านสามารถเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างกระแส HVGC และ IFC ได้หรือไม่อย่างไร?

-----------------------------------------------------------

 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |