1 ความคิดรวบยอด
การที่กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายได้นั้นจำเป็นต้องมีสื่อนำ
ขั้วกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ทำจากโลหะที่วางอยู่บนผิวหนังในตำแหน่งที่ถูกต้อง
จะทำหน้าที่เสมือนสื่อนำหรือสะพาน เชื่อมระหว่างเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อกับเนื้อเยื่อ
เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าไปยังเนื้อเยื่อ ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทให้ได้ผลการหดตัวตามที่ต้องการนั้น
ควรประกอบด้วย 1) การวางตำแหน่งขั้วกระตุ้นที่ถูกต้อง, 2)การปรับแต่งกระแสไฟฟ้าให้เหมาะสมไม่มากหรือน้อยไปในการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดหนึ่ง
3) ขนาดของขั้วกระตุ้นต้องพอเหมาะ หากเล็กไปจะเจ็บ หากใหญ่ไปกล้ามเนื้ออื่นๆที่ไม่ต้องการกระตุ้นจะหดตัวด้วย,
4) ชนิดของกระแสที่ใช้เหมาะสม, 5) ช่วงเวลาของการกระตุ้นครั้งหนึ่งๆที่เหมาะสม,
6) และการเลือกชนิดของขั้วกระตุ้นให้เหมาะสมกับเนื้อเยื่อและตำแหน่ง
2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
1. อธิบายลักษณะเฉพาะและประโยชน์
ของขั้วกระตุ้นที่ใช้สำหรับกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัดได้
2. อธิบายผลที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าชนิดต่างๆ
ทางกายภาพบำบัดได้
3. อธิบายขั้นตอนและแสดงวิธีการกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าความถี่ต่ำได้
4. สามารถอธิบายข้อบ่งชี้
และข้อควรระวังของการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำได้
5. สามารถอธิบายและแก้ไขปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นขณะทำการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำได้
3. เนื้อหา
1. ขั้วกระตุ้นของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าจะทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อม
เพื่อนำกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้นมายังกล้ามเนื้อ โดยทั่วไป ขั้วกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ใช้ทางกายภาพบำบัด
จะวางบนผิวหนังผู้ป่วยโดยไม่มีการแทงผ่านเนื้อเยื่อ ขั้วกระตุ้นโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น
1) ขั้วกระตุ้นโลหะ (มักนิยมใช้ทั่วไป), 2) ขั้วกระตุ้นแบบยางสังเคราะห์ผสมผงโลหะ,
3) ขั้วกระตุ้นสำเร็จรูปใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง, 4) ขั้วกระตุ้นแถบกาว
ขั้วกระตุ้นแต่ละชนิดมีคุณสมบัติ, ความเหมาะสมในการใช้งาน และมีข้อบ่งชี้ในการกระตุ้นแตกต่างกัน
ขั้วกระตุ้นกล้ามเนื้อแต่ละชนิด จะเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละชนิด
ตัวอย่างเช่น ขั้วกระตุ้น sterile เหมาะสำหรับการกระตุ้นเพื่อระงับปวดบริเวณแผลผ่าตัด
เป็นต้น
2. หลักการกระตุ้นและการเตรียมผู้ป่วย ควรประกอบด้วย
1)การเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ให้พร้อมที่จะใช้งาน เช่น ขั้วกระตุ้นแผ่นรองใต้ขั้ว,
สายยางรัดขั้วกระตุ้น, และเครื่องกระตุ้น, 2)การเตรียมตัวผู้รักษา/ผู้ทำการกระตุ้น
ควรมีความมั่นใจ และสามารถใช้ เครื่องกระตุ้นได้อย่างถูกต้อง, 3) การเตรียมผู้ถูกกระตุ้น
ควรจัดให้ผู้ถูกระตุ้นอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย ผู้กระตุ้นควรมีการอธิบายกับผู้ถูกกระตุ้นให้รู้ถึงจุดประสงค์
และวิธีการ/ขั้นตอน ของการกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท,
4) ตรวจสอบผิวหนังบริเวณที่กระตุ้น, 5) การวางขั้วกระตุ้น, 6) การปรับกระแสเพื่อการกระตุ้น/รักษา,
และ 7)การตรวจสอบผิวหนัง เมื่อสิ้นสุดการรักษาในแต่ละครั้ง
3. ปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทให้ได้ผลตามที่ต้องการนั้น
ควรประกอบด้วย 1)การวางตำแหน่งขั้วกระตุ้นที่ถูกต้อง, 2)การปรับแต่งกระแสไฟฟ้าให้เหมาะสมไม่มากหรือน้อยไปในการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดหนึ่ง
3)ขนาดของขั้วกระตุ้นต้องพอเหมาะ หากเล็กไปจะเจ็บ หากใหญ่ไปกล้ามเนื้อที่ไม่ต้องการจะหดตัวด้วย,
4) ชนิดของกระแสที่ใช้เหมาะสม, 5) ช่วงเวลาของการกระตุ้นครั้งหนึ่งๆ,
6) และการเลือกชนิดของขั้วกระตุ้นให้เหมาะสมกับเนื้อเยื่อและตำแหน่ง
4. เทคนิคการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท แบ่งออกเป็น
1) เทคนิคการกระตุ้นขั้วเดียว (monopolar technique), 2) เทคนิคการกระตุ้นสองขั้ว
(bipolar technique) 3) เทคนิคการกระตุ้นหลายขั้ว
5. การปรับกระแสที่กระตุ้นจำเป็นต้องมีการปรับ 1) ลักษณะชนิดของคลื่น,
2) ความแรงของกระแสไฟ, 3) ช่วงการกระตุ้น (pulse duration), 4) ช่วงพัก
(pause duration)} 4) ความถี่ (frequency), 5) และระยะเวลาที่กระตุ้นครั้งหนึ่งๆ
ให้พอเหมาะกับชนิดของกล้ามเนื้อ ชนิดของโรคที่จะกระตุ้น และตำแหน่งที่จะกระตุ้น
6. ข้อบ่งชี้และข้อควรระวังในการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า
เช่น ไม่ควรกระตุ้นในหญิงมีครรภ์, ผู้ที่ใส่เครื่องควบคุมจังหวะการเต้นหัวใจ
เป็นต้น
7. หลักการเตรียมเครื่องมือ และการเตรียมผู้ถูกกระตุ้น
เช่น การกระตุ้นในท่านอน, การกระตุ้นในท่านั่ง, การกระตุ้นบริเวณหลังส่วนล่าง,
การกระตุ้นบริเวณใบหน้าผู้ป่วย เป็นต้น
8. ปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการกระตุ้น
เช่น 1) เกิดการไหม้พอง, 2) การเกิดไฟดูด, 3) การเกิดไฟฟ้าลัดวงจร,
4) การเกิดผื่นคันที่ผิวหนัง เป็นต้น
4. กิจกรรมการเรียนการสอน
4.1 ขั้นนำ
1. เริ่มต้นโดยผู้สอนทักทายนักเรียน ทบทวนความรู้เดิมจากชั่วโมงที่แล้ว
และชี้ประเด็นว่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการรักษาทางกายภาพบำบัดนั้น
มีหลายชนิด ขึ้นกับลักษณะของคลื่นไฟฟ้า ช่วงกระตุ้น ช่วงพัก และความแรงกระแสไฟฟ้า
2. ผู้ตั้งประเด็นว่า หากต้องทำการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าที่เรียนมากับผู้ป่วย
ผู้เรียนจะต้องทำอย่างไรบ้าง? เริ่มต้นอย่างไร? ต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง?
และต้องระวังไม่ให้เกิดอันตรายอย่างไรบ้าง?
3. ผู้สอนแจ้งจุดประสงค์และกิจกรรมการเรียนการสอนว่า
จะเรียนเรื่องเทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าทางกายภาพบำบัด และปัญหาที่มักเกิดขึ้นขณะกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าทางกายภาพบำบัด
4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
ผู้สอนขอตัวแทนนักศึกษา 1 คน เพื่อเป็นหุ่น สำหรับสาธิตการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
ให้ผู้เรียนเป็นผู้สังเกต โดยผู้สอนจะเป็นผู้สาธิตการกระตุ้น และอธิบายถึงลำดับขั้นตอนและวิธีการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้าทางกายภาพบำบัด
ให้ผู้เรียนพิจารณาและลำดับขั้นตอนของการกระตุ้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามในประเด็นที่ผู้เรียนสงสัยหรือไม่ชัดเจน
ผู้สอนแจกใบงานที่ 1-4 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่จะเรียนให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อยพิจารณา
ซึ่งได้แก่ 1) ขั้วกระตุ้นกล้ามเนื้อ 2) เทคนิคการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
3) ขั้นตอนของการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท 4) ปัญหาบางประการที่มักเกิดขึ้นขณะกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า
4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง
ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและจับประเด็นสำคัญของเนื้อหาในใบงานอย่างไตร่ตรอง
และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหา วิเคราะห์ความหมายต่างๆของคำและเนื้อหาที่ให้
และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มย่อยต่อไป
4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว
ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม
ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่น โดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ
ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม
ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป
4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียนให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่
โดยผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปราย แสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน
ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น
4.3 ขั้นสรุป
ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด
หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ
โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน
4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ
1.ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติการเอง
โดยการจับคู่กับเพื่อนสลับเป็นหุ่นและผู้กระตุ้น โดยการกระตุ้นกล้ามเนื้อบริเวณแขน
ด้วยกระแสไฟฟ้าชนิดต่างๆ โดยใช้เทคนิคกระตุ้นหลายชนิด ตามคู่มือปฏิบัติการจนเกิดความมั่นใจ
รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการกระตุ้น
2.ร่วมกลุ่มย่อย เพื่ออภิปรายผลและปัญหาที่แต่ละคนพบจากการฝึก
สรุปปัญหา และส่งตัวแทนเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาที่ได้รับมอบหมาย 3.เปรียบเทียบกับชนิดของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทแต่ละชนิด
4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
ผู้สอนเสนอกรณีตัวอย่างใหม่ โดยให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวิธีวัดและแก้ปัญหา
ร่วมกันเสนอแนวคิดและวิธีการที่เหมาะสม พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานและปัญหาของกลุ่มระหว่างการทำงานที่ได้รับมอบหมาย
5. การประเมินผล
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน
โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ
โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก
แบ่งออกเป็น
1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง
แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม
และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์
แนวคำถามแผนการสอนที่
3
1. ขั้วกระตุ้นไฟฟ้าทำหน้าที่อะไร แบ่งเป็นกี่ชนิด อะไรบ้าง และแต่ละชนิดมีลักษณะการใช้งานแตกต่างกันอย่างไร
2. ลักษณะขั้วกระตุ้นที่ดี ควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง จงอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบสิ่งที่พูด
3. หากท่านจำเป็นต้องกระตุ้นกล้ามเนื้อบริเวณแขน (biceps brachialis)
ข้างซ้าย ให้กับผู้ป่วยรายหนึ่ง ท่านจะมีการเตรียมวัสดุและอุปกรณ์อะไรบ้าง
และมีวิธีการเตรียมการ ก่อน ระหว่าง และหลังกระตุ้นอย่างไร จงอธิบายอย่างเป็นลำดับขั้นตอนของการกระตุ้นชนิดต่างๆดังกล่าวโดยละเอียด
4. เทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำแบ่งออกเป็นกี่ชนิด อะไรบ้าง
ท่านลองยกตัวอย่าง หรืออธิบายประเด็นดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร
5. ปัจจัยที่มีอิทธิพล หรือมีผลต่อการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้แก่อะไรบ้าง
6. ท่านสามารถอธิบายข้อบ่งชี้ และข้อควรระวังของการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้หรือไม่
อย่างไร
7. ปัญหาที่มักเกิดขึ้นขณะกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า ได้แก่
1. การไหม้พอง
2. เกิดไฟดูด
3. เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง
4. กล้ามเนื้อที่ไม่ต้องการกระตุ้นเกิดการหดตัว
ในความคิดเห็นของท่าน เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร จงแสดงเหตุผล และอธิบายถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ต่อประเด็นดังกล่าว
ใบงานแผนการสอนที่
3
-------------------------------------------------------------
1. คำชี้แจง
1. หลังจากนักศึกษาได้รับเนื้อหาใบงานที่
1-4 ที่แจกให้อ่าน ให้พิจารณาเนื้อหาและประเด็นคำถามด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ
20 นาที
2. ให้รวมกลุ่มย่อยและปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเนื้อหาและความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม
เป็นเวลา 20 นาที
3. ส่งตัวแทนตามที่กำหนด นำเสนอกลุ่มใหญ่ ใช้เวลากลุ่มละ
5 นาที
----------------------------------------------------------------
ใบงานที่1 : ขั้วกระตุ้นกล้ามเนื้อ
ขั้วกระตุ้นของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าจะทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อม
เพื่อนำกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้นมายังกล้ามเนื้อ โดยทั่วไป ขั้วกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ใช้ทางกายภาพบำบัด
จะวางบนผิวหนังผู้ป่วยโดยไม่มีการแทงผ่านเนื้อเยื่อ ขั้วกระตุ้นโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น
1) ขั้วกระตุ้นโลหะ (มักนิยมใช้ทั่วไป), 2) ขั้วกระตุ้นแบบยางสังเคราะห์ผสมผงโลหะ,
3) ขั้วกระตุ้นสำเร็จรูปใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง, 4) ขั้วกระตุ้นแถบกาว
ขั้วกระตุ้นแต่ละชนิดมีคุณสมบัติ, ความเหมาะสมในการใช้งาน และมีข้อบ่งชี้ในการกระตุ้นแตกต่างกัน
ขั้วกระตุ้นกล้ามเนื้อแต่ละชนิด จะเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละชนิด
ตัวอย่างเช่น ขั้วกระตุ้น sterile เหมาะสำหรับการกระตุ้นเพื่อระงับปวดบริเวณแผลผ่าตัด
เป็นต้น
การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำ
โดยทั่วไปมักใช้ขั้วกระตุ้น 2 ขั้ว มักเป็นขั้ว บวก และลบ เพื่อให้เกิดความต่างศักย์
กระแสไฟฟ้าจึงจะไหลได้ หากขั้วกระตุ้นทั้งสองไม่แสดงความเป็นบวก-ลบ
(ปุ่มปรับความเป็นบวก-ลบ ที่ตัวเครื่อง อยู่ตรงกลาง) กระแสจะไม่ไหล
ไม่สามารถกระตุ้นได้ ขั้วกระตุ้นที่ใช้สำหรับกระตุ้นเรียกว่า ขั้วกระตุ้น
หรือ active electrode ส่วนขั้วที่ไม่ใช้กระตุ้น (ทำให้ครบวงจร) เรียกว่า
dispersive electrode, indifferent electrode ขั้วกระตุ้นมักเป็นขั้วลบ
และมักมีขนาดเล็กกว่า ส่วน dispersive electrode มักเป็นขั้วบวกมักมีขนาดใหญ่กว่า
1) ท่านทราบหรือไม่ว่าเหตุใด
ขั้วกระตุ้นจึงมักเป็นขั้วลบ และมักมีขนาดเล็กกว่าขั้วบวก ?
2) ท่านทราบได้อย่างไรว่าขั้วกระตุ้นไหนเป็นขั้วบวกหรือขั้วลบ
3) เพราะเหตุใดจึงต้องใช้ผ้าชุบน้ำวางไว้ใต้ขั้วกระตุ้น
และนอกจากผ้าชุบน้ำแล้ว ท่านสามารถใช้อุปกรณ์อื่นๆทดแทนได้หรือไม่
จงอธิบายพร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบการอธิบาย
--------------------------------------------------------------
ใบงานที่ 2: เทคนิคการกระตุ้น
เทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำแบ่งออก
2 ชนิด ได้แก่ monopolar technique และ bipolar technique
เทคนิค monopolar เป็นเทคนิคที่วางขั้วกระตุ้นเพียงขั้วเดียวอยู่บนกล้ามเนื้อที่กระตุ้น
ส่วนขั้วที่เป็น dispersive มักวางบนผิวหนังในตำแหน่งที่ห่างออกไป
เทคนิค monopolar มักใช้สำหรับ หาจุด motor, ทำ SD curve และใช้สำหรับลดปวดโดยวางขั้วกระตุ้นที่จุดเจ็บ
หรือจุดฝังเข็ม เป็นต้น
เทคนิค bipolar เป็นเทคนิคที่ขั้วกระตุ้นทั้งสองวางอยู่บนกล้ามเนื้อที่กระตุ้น
เทคนิค bipolar มักใช้สำหรับกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง
กระตุนกล้ามเนื้อที่ต้องการให้เกิดการหดตัวอย่างเต็มที่ หรือบริเวณที่มีอาการเจ็บปวดเป็นบริเวณกว้าง
นอกจากเทคนิคทั้งสองดังกล่าว
แล้ว เครื่องกระตุ้นในปัจจุบัน ยังสามารถใช้ขั้วกระตุ้นมากกว่า 2 ขั้วกระตุ้น
เช่น เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อกระแสไฟตรงศักย์สูง (HVGC) มักใช้ 3
ขั้ว เครื่องกระตุ้นกระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชียล (IFC)มักใช้ 4 ขั้ว
และการกระตุ้นเพื่อลดความเจ็บปวดมักใช้ขั้วกระตุ้น มากกว่า 1 ชุด (มากกว่า
2 ขั้ว)
ท่านทราบหรือไม่ว่า ทำไมจึงต้องใช้ขั้วกระตุ้นมากกว่า
2 ขั้วกระตุ้น ทั้งๆที่ขั้วไฟฟ้าจริงมีเพียง 2 ขั้ว คือ ขั้วบวกและลบเท่านั้น
และเพราะเหตุใดจึงต้องใช้กระตุ้นหลายวงจร (1 วงจร มี 2 ขั้ว คือขั้วบวก
และลบ)
----------------------------------------------------
ใบงานที่ 3: ขั้นตอนของการกระตุ้น
หลังจากได้ตรวจร่างกาย
ประเมินผล และวางแผนการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างดี และได้เลือกวิธีกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำในการรักษาแล้ว
ควรปฏิบัติขันตอนเพื่อกระตุ้นด้วยไฟฟ้าดังต่อไปนี้
1) การเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อนกระตุ้นทุกครั้งควรมีการเตรียม
1)เครื่องกระตุ้น โดยต่อสายและเปิดเครื่อง ปรับความเข้มมาที่ 0 เสมอ,
2) ขั้วกระตุ้นที่สะอาดและพร้อมใช้งาน ฯลฯ
2) การเตรียมผู้กระตุ้น ผู้กระตุ้นควรมีความรู้ในการกระตุ้น
สุขุมไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่แสดงท่าทางตื่นเต้นซึ่งจะทำให้ผู้ถูกกระตุ้นเกิดความไม่แน่ใจ
หรือเกิดความหวาดกลัว
3) การเตรียมผู้ถูกกระตุ้น โดยการจัดท่าให้ผู้ถูกกระตุ้นอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย
กล้ามเนื้อหรือร่างกายส่วนที่จะกระตุ้นถูกยืดเล็กน้อย
4) ตรวจสอบผิวหนังบริเวณที่กระตุ้น ไม่ควรมีแผล
หรือรอยถลอก เช็ดคราบน้ำมันหรือแป้งออก
5) ปรับกระแสที่ใช้กระตุ้นให้เหมาะสม ค่อยๆเพิ่มปริมาณกระแสจากน้อยมามากค่อยสังเกตอาการและสอบถามอาการผู้ถูกกระตุ้น
1) ท่านทราบหรือไม่ว่า ก่อนทำการกระตุ้น ก) ทำไมจึงต้องปรับความเข้มของกระแสไฟฟ้าของเครื่องกระตุ้นมาไว้ที่ตำแหน่ง
0 (ศูนย์) เสมอ ข) การจัดท่าผู้ถูกกระตุ้น(position) เพราะเหตุใดจึงมักจัดท่าให้กล้ามเนื้อที่ต้องการกระตุ้นอยู่ในลักษณะที่ถูกยืดเล็กน้อย
ค) ทำไมต้องมีการทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่กระตุ้นไม่ให้มีแป้งหรือคราบน้ำมันก่อนการกระตุ้นเสมอ
2) การปรับกระแสไฟที่ใช้กระตุ้น ท่านคิดว่าควรมีการปรับค่าใดของกระแสบ้าง
เพราะเหตุใด
------------------------------------------------------------------
ใบงานที่ 4: ปัญหาบางประการที่มักเกิดขึ้นขณะกระตุ้น
ขณะทำการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
มักจะเกิดปัญหาต่างๆ ได้แก่
1) กล้ามเนื้อที่ต้องการกระตุ้นไม่หดตัว (กล้ามเนื้อที่ไม่ต้องการกลับหดตัว)
ซึ่งอาจเป็นเพราะ การวางขั้วกระตุ้นไม่ถูกตำแหน่งของจุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อที่ต้องการกระตุ้น,
หรือเป็นเพราะขั้วกระตุ้นที่ใช้ใหญ่เกินไป
2) กล้ามเนื้อไม่เกิดการหดตัวเลย (ไม่เห็นกล้ามเนื้อที่ต้องการและไม่ต้องการหดตัว)
อาจเป็นเพราะ เครื่องเสีย ไม่มีการเชื่อมต่อระหว่าง สายเสียบกับตัวเครื่อง
หรือสายขั้วกระตุ้นกับตัวเครื่อง ฯลฯ ไม่ได้เปิดเครื่อง หรือใช้ไม่เป็น
3) กระตุ้นแล้วทำให้ผู้ถูกกระตุ้นเจ็บมาก อาจเป็นเพราะใช้ความเข้ม
หรือช่วงกระตุ้นไฟมากเกินไป, ผู้ถูกกระตุ้นมี pain threshold ต่ำ
4) ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดผื่น คัน อาจเป็นเพราะผ้ารองขั้วกระตุ้นสกปรก
หรือเกิดปฏิกิริยาใต้ขั้ว (ความเป็นกรดด่าง) มากเกินไป
5) กล้ามเนื้อที่เคยหดตัวแรงแล้วกลับมาหดตัวลดลง
ถึงแม้เพิ่มไฟแล้วก็ตาม อาจเป็นเพราะขั้วกระตุ้นเลื่อนหลุด ขั้วกระตุ้นแห้ง
หรือเกิดการปรับตัวของเส้นประสาท (accommodation)
6) ผู้กระตุ้น/ผู้ถูกกระตุ้น ถูกไฟดูด อาจเป็นเพราะเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อมีไฟรั่ว
ผู้กระตุ้นจับตัวผู้ถูกกระตุ้นและตัวเครื่องกระตุ้นพร้อมกัน
ท่านคิดว่า
ปัญหาต่างๆดังกล่าวมีประเด็นอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ และปัญหาต่างๆดังกล่าวจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร
จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ หลังจากปฏิบัติการแล้วท่านประสบปัญหาที่ต่างจากที่ได้กล่าวมาแล้วหรือไม่อย่างไร
จงอภิปราย ?
-----------------------------------------------------------
|