1 ความคิดรวบยอด
ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงมักได้รับการดูแลในหอผู้ป่วยอภิบาล
(ICU) ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้เสมอๆ ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ
ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ภาวะไข้สูง
เป็นต้น กายภาพบำบัดมีส่วนสำคัญในการดูแลให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาพปกติ
และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว เทคนิคทางกายภาพบัดบัดในผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บที่สำคัญได้แก่
1) การจัดท่า 2) การจัดท่าระบายเสมหะ 3) การเคาเขย่าปอด 4) การสั่นปอด
5) การฝึกไออย่างมีประสิทธิภาพ 6) การดูดเสมหะ 7) การฝึกหายใจ และ
8) การฝึกเคลื่อนไหวทางทรวงอก (chest mobilization)
2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
1. อธิบายลักษณะผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังการบาดเจ็บอย่างรุนแรง
2. อธิบายวิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดทรวงอกในผู้ป่วยภาวะที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
3. อธิบายข้อบ่งชี้ เทคนิค
และข้อควรระวังของวิธีการทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ
4. สามารถระบุประเด็นปัญหา
และเชื่อมโยง หาความสัมพันธ์ของประเด็น ปัญหา
5. สามารถค้นหาและระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็น
ปัญหา
6. สามารถตั้งสมมติฐาน
ลงข้อสรุป และยืนยันข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผล
3. เนื้อหา
1. ผลแทรกซ้อนที่มักพบเสมอในผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บอย่างรุนแรง
ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ (hypotension), ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ (hypoxemia),
ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง (hypercarbia), สมองบวม (brain swelling)
ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia), ภาวะไข้สูง (hyperthermia)
ก้อนเลือดในโพรงกะโหลกศีรษะ (intracranial hematoma)
2. หลักการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง
เป็นการพยายามจัดให้ผู้ป่วย อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับสรีระของคนปกติให้มากที่สุด
เช่น การรักษาระดับเกลือแร่ และอิเล็กโทรไลต์ และปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์
ในเลือดเป็นปกติ การปล่อยให้ผู้ป่วยเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia)
จะทำให้เกิดผลเสียต่อสมองทำให้เกิดสมองบวม, การทำให้ผู้ป่วยขาดน้ำ
(dehydrated)
3. เทคนิคทางกายภาพบำบัดทรวงอกในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองและไขสันหลัง
ไม่แตกต่างจากผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินทั่วๆ ไป เพียงแต่จะต้องทราบ และเข้าใจสภาพและภาวะการต่างๆ
ของผู้ป่วย, การใช้เครื่องมือเฝ้าระวังชนิดต่าง ๆ
4. หลักการจัดท่า (positioning) ในผู้ป่วยที่ไม่รู้สติ
มักจัดให้ปอดที่มีความปกติมากกว่า, อยู่ด้านล่าง เพื่อเพิ่ม ventilation-perfusion
ratios และ oxygenation
5. การจัดท่าเพื่อระบายเสมหะ (postural
drainage) เป็นวิธีการทางกายภาพบำบัดทรวงอกวิธีหนึ่ง ในการระบายของเสียหรือเสมหะ
ออกจากปอดมาตามทางเดินหายใจจากท่อลมเล็กๆ มาสู่ท่อลมขนาดใหญ่ โดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลก
ซึ่งลักษณะท่าที่จัดนั้น ก็จะแตกต่างกัน แล้วแต่ตำแหน่งแขนงของปอด
ซึ่งมีทั้งหมด 14 segment ผู้ป่วยที่ไม่รู้สติ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและใส่เครื่องช่วยหายใจนั้น
การจัดท่าควรใช้เวลาสั้นที่สุด
6. การทำ vibration เป็นการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนจากฝ่ามือเข้าไปยังปอด
โดยผ่านผนังทรวงอกด้วยความถี่ประมาณ 12-20 Hz เทคนิคนี้จะรุนแรงกว่า
percussion ซึ่ง rib cage จะถูกเขย่าในช่วงที่หายใจออก
7. การทำ manual lung inflation มักนิยมทำขณะถอดท่อช่วยหายใจออกจากเครื่องช่วยหายใจ
และบีบด้วย ambu bag ซึ่งมักจะบีบตามจังหวะการหายใจ โดยทั่วๆ ไปอัตราการไหลของอากาศที่ผ่าน
ambu-bag นั้นจะประมาณ 120-340 ลิตร/นาที
8. การไอเป็นกลไกขจัดสิ่งแปลกปลอมของร่างกายตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพมาก
สามารถขจัดเสมหะออกจากทางเดินหายใจตั้งแต่ระดับ trachea main bronchus
จนถึง fourth generation of segmental bronchi
9. การดูดเสมหะเป็นวิธีที่มักทำร่วมกับการทำกายภาพบำบัดทรวงอก
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใส่ท่อระบายอากาศ การดูดเสมหะในส่วนลึกจำเป็นอย่างมากในผู้ป่วยที่ไม่สามารถไอ
หรือทำ huffing ไม่ได้ การใช้เวลาดูดเสมหะครั้งหนึ่งๆนานเกินความจำเป็น
และไม่หมุนสายในลักษณะปั่นสาย จะส่งผลเสีย ทำให้เกิด airway occlusion
และ hypoxemia, การดูดเสมหะควรทำสลับกับการทำกายภาพบำบัดทรวงอก เช่น
การเคาะหรือเขย่าปอด และควรดูดเสมหะก่อนที่จะมีการเปลี่ยนท่าผู้ป่วย
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความทนต่อการทำกายภาพบำบัดทรวงอกน้อย
10. ในผู้ป่วยที่เอาท่อช่วยหายใจออก และสามารถทำตามคำสั่งได้ดี
การฝึกให้ผู้ป่วยหายใจได้เอง จะมีประโยชน์ช่วยเพิ่ม tidal volume,
เพิ่ม thoracic cage mobility, เพิ่มปริมาตรของปอดขณะหายใจเข้า และไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การฝึกให้ผู้ป่วยหายใจ สามารถใช้ได้ทั้งผู้ป่วยที่มีปัญหา neuromuscular
diseases, ผู้ป่วย ที่ได้รับบาดเจ็บ, ผู้ป่วยที่ได้รับผ่าตัดทรวงอก,
ช่องท้อง ซึ่งเจ็บแผล ใช้ได้ทั้งผู้ป่วยที่ใส่ และไม่ใส่ท่อร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ
11. การฝึกให้ผู้ป่วยพยายามเคลื่อนไหวตัวเอง
โดยการจัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะตั้งตรง (upright position) จะสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพิ่มปริมาตรปอด (lung volume) รวมถึง functional residual volume
and lung compliance ผู้ป่วยที่กำลังอย่าจากเครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วย
COPD ซึ่งทำได้ยากมาก การให้ผู้ป่วยฝึกเดินโดยใส่เครื่องช่วยหายใจด้วย
จะทำให้การอย่าเครื่องทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะฝึกให้ผู้ป่วยเดินใน
ICU ควรมีการ monitor vital sign ขณะทำด้วยเสมอ
4. กิจกรรมการเรียนการสอน
4.1 ขั้นนำ
1. เริ่มต้นผู้สอนทักทายผู้เรียน โดยเริ่มจากผู้เรียนทุกท่านคงมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านทรวงอก
(เนื่องจากเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกของผู้เรียน)ใครบ้างที่เคยมีประสบการณ์แปลกๆ
ในการรักษาผู้ป่วยทางด้านทรวงอกบ้าง ลองเล่าให้เพื่อนๆฟังซิว่า ลักษณะผู้ป่วยสำคัญของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางทรวงอกเป็นอย่างไรบ้าง
และนักกายภาพบำบัดจะต้องมีความรู้อะไรบ้าง (พยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนที่เคยมีประสบการณ์
เล่าประสบการณ์ที่ได้รับให้เพื่อนๆในห้องฟัง)
2. ผู้สอนนำอภิปรายว่า การดูแลผู้ป่วยที่บาดเจ็บอย่างรุนแรง
มักจะต้องได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาจย้ายเข้าไปพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยระยะวิกฤต
(ICU) แต่การรักษาทางกายภาพบำบัดในภาวะดังกล่าวก็ไม่แตกต่างจากการรักษากายภาพบำบัดทรวงอกทั่วไป
เพียงแต่ต้องมีความรู้และมีความแม่นยำในภาวะผิดปกติของผู้ป่วยต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
และมีความรู้ในด้านอุปกรณ์ช่วยต่างๆ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเฝ้าระวังชนิดต่างๆ
เครื่องวัด EKG เป็นต้น
3. ผู้สอนแจ้งวัตถุประสงค์ว่าวันนี้จะเรียนเรื่อง
กายภาพบำบัดในผู้ป่วยภาวะการบาดเจ็บ
4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
ผู้สอนแจกใบงานที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่จะเรียน
ให้กับผู้เรียนทุกคน
4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
ผู้สอนบอกให้ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน
โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน
โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดด้วยตนเอง ตามกระบวนการและองค์ประกอบของกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
เช่น 1) กระบวนการกำหนดประเด็นปัญหา 2) กระบวนการหาข้อสรุป 3) กระบวนการพิจารณาหาเหตุผลประกอบ
เป็นต้น
ผู้สอนพยายามสังเกต และบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ
กระตุ้นให้ผู้เรียนได้บันทึกในสิ่งที่ตนเองได้คิดอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดเวลา
และให้เวลาอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่
4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว
ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม
โดยให้สมาชิกได้อ่านสิ่งที่ตนได้คิดให้เพื่อนสมาชิกฟัง ขณะที่สมาชิกในกลุ่มที่เหลือตั้งใจฟังพร้อมจดบันทึกประเด็นสำคัญ
เพื่อเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิด ร่วมกันอภิปรายความเหมือน ความแตกต่าง
และกระบวนการคิด ช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม
ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป
4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่
โดยผู้สอนได้ใช้การคิดเลือกตัวแทนของกลุ่มตามวิธี TGT เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการแข่งขัน
เพื่อเร่งเร้าการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ร่วมกันอภิปราย แสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน
ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น
4.3 ขั้นสรุป
ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด
หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ได้
และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัย
ทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมด
อย่างชัดเจน
4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ
ผู้สอนแจกใบงานที่ 2 ให้ผู้เรียนจับกลุ่มกับเพื่อนๆในกลุ่มย่อย
กลุ่มละ 3 คน เพื่อฝึกการซักประวัติและตรวจร่างกาย และวางแผนให้การรักษาทางกายภาพบำบัด
ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บตามที่ได้รับมอบหมาย อย่างเป็นลำดับ สรุปข้อความรู้ที่ได้
ประเด็นปัญหาที่ได้จากการฝึกปฏิบัติ อภิปรายแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบในกลุ่มย่อย
นำเสนอผลการตรวจประเมิน และวางแผนการรักษาผู้ป่วย
ในชั้นเรียน โดยเพื่อนๆร่วมกันอภิปราย และแสดงความคิดเห็น
4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
ผู้สอนเสนอกรณีตัวอย่างผู้ป่วยใหม่ (ใบงานที่ 3)
ซึ่งเป็นกรณีศึกษา โดยให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวิธีการแก้ปัญหาผู้ป่วยรายดังกล่าวโดยร่วมกันเสนอแนวคิด
และการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผล พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ
5. การประเมินผล
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน
โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ
โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก
แบ่งออกเป็น
1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง
แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม
และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์
แนวคำถามแผนการสอนที่
1
1. การบาดเจ็บที่ส่งผลต่อระบบหายใจได้แก่การบาดเจ็บบริเวณใดของร่างกาย
และชนิดไหนรุนแรงและต้องให้การเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
2. ลำดับขั้นตอนของการตรวจร่างกายทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ
มีลำดับขั้นตอนอย่างไร
3. กายภาพบำบัดทางทรวงอกในผู้ป่วยที่ไ้ด้รับอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่รุนแรง
แตกต่างจากกายภาพบำบัดทางทรวงอกภาวะอื่นๆอย่างไร จงอธิบาย และเปรียบเทียบให้เห็นชัด
ใบงานที่
1: เรื่องกายภาพบำบัดในผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บ
-------------------------------------------------------------
คำชี้แจง
1.
หลังจากนักศึกษาได้อ่านเนื้อหาเรื่อง กายภาพบำบัดในผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บ
(ได้แจกให้อ่านก่อนการเรียนการสอน 2 สัปดาห์) ให้พิจารณาปัญหาผู้ป่วยที่ให้
2. พิจารณาประเด็นคำถาม
และตอบคำถามด้วยตนเองโดยพิจารณาจากเอกสารประกอบการสอน และตำราต่างๆในห้องสมุด
(หากต้องการ) โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ
15นาที
3. ให้รวมกลุ่มและปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม
เป็นเวลา 15 นาที
4. นำเสนอในกลุ่มใหญ่
ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาที
----------------------------------------------------
ปัญหาผู้ป่วย
ผู้ป่วยชายไทยอายุ
35 ปี ได้รับอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชน ล้มลงหมดสติ หลังการบาดเจ็บมีผู้นำส่งโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยมีบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้า และกระดูกซี่โครง
3, 4, 5 ข้างขวาหัก ได้รับการทำผ่าตัดเพื่อขจัดเลือดที่คั่งในสมอง
(Rt. Craniotomy) และใส่สาย chest drain ข้างขวาแบบ 2 ขวด ผ่านเครื่องดูด
ขณะนี้ผู้ป่วยยังไม่ได้สติ ใช้เครื่องช่วยหายใจ UV II respirator
ผ่านทาง tracheostomy tube ชนิดCMV ผู้ป่วยสามารถขยับแขนซ้ายได้บ้าง
ผล chest X-rays มี infiltration of both lungs สัญญาณชีพปกติ
ประเด็นคำถามที่ให้พิจารณา
1. จากสถานการณ์ที่กำหนด ท่านสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บอะไรบ้าง
และปัญหาปัจจุบันของผู้ป่วยรายนี้ มีอะไรบ้าง จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้
2. จากสถานการณ์ที่กำหนด ท่านจะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างไร?
จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้ และหากข้อมูลที่ได้ไม่สมบูรณ์ท่านสามารถกำหนดข้อมูลที่เป็นไปได้ต่อกรณีดังกล่าวได้ตามต้องการอย่างสมเหตุสมผล
3. ต่อมา ผู้ป่วยมีอาการทางสมองดีขึ้น มีสติสามารถรับรู้และตอบสนองได้ดีขึ้น
สามารถขยับแขนซ้ายได้ค่อนข้างดี ท่านจะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างไร?
จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้ และหากข้อมูลที่ได้ไม่สมบูรณ์ท่านสามารถกำหนดข้อมูลที่เป็นไปได้ต่อกรณีดังกล่าวได้ตามต้องการอย่างสมเหตุสมผล
4. ต่อมา ผู้ป่วยผู้ป่วยสามารถหายใจได้เองบ้าง
ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจ แบบ IMV 6 ครั้ง และได้ถอดสาย chest drainage
ออกแล้ว แพทย์ต้องการให้ผู้ป่วยหายใจได้เอง โดยจะถอดเครื่องช่วยหายใจออก
(และหากผู้ป่วยดีขึ้นอีก แพทย์จะเอาท่อช่วยหายใจออกด้วย) ท่านจะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างไร?
จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้ และหากข้อมูลที่ได้ไม่สมบูรณ์ท่านสามารถกำหนดข้อมูลที่เป็นไปได้ต่อกรณีดังกล่าว
ได้ตามต้องการอย่างสมเหตุสมผล
ใบงานที่ 2: แบบฝึกหัด:
กายภาพบำบัดในผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บ
------------------------------------------------------------------
คำชี้แจง
1.ให้นักศึกษาฝึกทำแบบฝึกหัด ที่เป็นตัวอย่างกรณีผู้ป่วยเป็นการบ้าน
โดยพิจารณาปัญหาของผู้ป่วยที่ให้ ด้วยตนเองไม่ปรึกษากัน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่
somch_ra@kku.ac.th
-----------------------------------------------------------
ปัญหาผู้ป่วย 1
ผู้ป่วยชายไทยอายุ 38 ปี
ได้รับอุบัติเหตุจากรถชนกัน ผู้ป่วยสลบไปทันที มีผู้นำส่งโรงพยาบาล
40 นาที หลังบาดเจ็บ พบว่า ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ทำตามคำสั่งเวลาถูกหยิกให้เจ็บ
แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและไขสันหลังระดับ
C1, 2 ยังไม่รู้สึกตัว ได้ทำ skull traction ใส่สายระบายทรวงอกบริเวณชายโครงด้านซ้าย
ใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก และเครื่องช่วยหายใจ Bird's respirator ขณะนี้ผู้ป่วยมีไข้สูง
และติดเชื้อทางเดินหายใจ เสมหะมีสีเหลืองจำนวนมาก สัญญาณชีพปกติ
คำถาม
1. จากสถานการณ์ที่กำหนด
ท่านสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บอะไรบ้าง และปัญหาปัจจุบันของผู้ป่วยรายนี้
มีอะไรบ้าง จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้
2. จากสถานการณ์ที่กำหนด
ท่านจะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างไร? จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้
และหากข้อมูลที่ได้ไม่สมบูรณ์ท่านสามารถกำหนดข้อมูลที่เป็นไปได้ต่อกรณีดังกล่าวได้ตามต้องการอย่างสมเหตุสมผล
3. ต่อมา ผู้ป่วยมีอาการทางสมองดีขึ้น
มีสติสามารถรับรู้และตอบสนองได้ดีขึ้น สามารถขยับนิ้วได้บ้าง ท่านจะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างไร?
จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้ และหากข้อมูลที่ได้ไม่สมบูรณ์ท่านสามารถกำหนดข้อมูลที่เป็นไปได้ต่อกรณีดังกล่าวได้ตามต้องการอย่างสมเหตุสมผล
4. ต่อมาได้ถอดสาย chest
drainage ออกแล้ว ผู้ป่วยต้องการไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ดังนั้นจึงต้องฝึกให้ผู้ป่วยหายใจได้เอง
เพื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออก ท่านจะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างไร?
จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้ และหากข้อมูลที่ได้ไม่สมบูรณ์ท่านสามารถกำหนดข้อมูลที่เป็นไปได้ต่อกรณีดังกล่าว
ได้ตามต้องการอย่างสมเหตุสมผล
5. การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น จงแสดงเหตุผลและหลักฐานสนับสนุน
--------------------------------------------------
|