1 ความคิดรวบยอด
การบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นอุบัติการที่พบได้บ่อย
จากอุบัติเหตุทางจราจร มักนำมาสู่ความสูญเสียแก่ชีวิตและทุพลภาพ ชนิดการบาดเจ็บแบ่งออกเป็น
1) การบาดเจ็บที่หนังศีรษะ, 2) การบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะ, 3) การบาดเจ็บที่สมองและหลอดเลือดสมอง
การบาดเจ็บที่ศีรษะที่รุนแรงมักเกิดจากการบาดเจ็บชนิดที่ศีรษะมีการเคลื่อนที่
(dynamic head injury) เกิดการบาดเจ็บโดยทั่วทั้งสมอง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ทำให้ความดันในโพรงกะโหลกสูงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสมอง หากไม่ได้รับการแก้ไขแล้วจะทำให้ผู้ป่วยถึงแก่เสียชีวิตและพิการ
ดังนั้น การประเมินอาการผู้ป่วยหลังการบาดเจ็บอย่างถูกต้องเหมาะสม
การเฝ้าระวังโดยบันทึกผล สัญญาณชีพ ความดันในโพรงกะโหลก การตรวจการรู้สติ
และบันทึกขนาดรูม่านตา เป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบผลแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บที่สมองเป็นสิ่งที่สำคัญ
ทำให้สามารถและแก้ไขความผิดปกติทางคลินิกที่เกิดขึ้นได้ทันที
2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
1. อธิบายลักษณะและชนิดของการบาดเจ็บและความรุนแรงของการบาดเจ็บที่สมองในผู้ป่วย
2. อธิบายกลไกที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ป่วย
3. อธิบายวิธีการตรวจประเมินผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะ
4. ระบุประเด็นปัญหา และเชื่อมโยง
หาความสัมพันธ์ของประเด็น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่ศีรษะ
5. ระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและให้การรักษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
3. เนื้อหา
1. การบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นอุบัติการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการจราจร
2. ลักษณะของการบาดเจ็บที่ศีรษะสามารถแบ่งออกเป็น
1) การบาดเจ็บที่หนังศีรษะ, 2) การบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะ, 3) การบาดเจ็บที่สมองและหลอดเลือดสมอง
3. ความรุนแรงของการบาดเจ็บของศีรษะขึ้นกับ
กลไกของการบาดเจ็บสามารถแบ่งเป็น 1) static head injury, 2) dynamic
head injury ซึ่งการบาดเจ็บชนิด dynamic head injury จะทำให้เกิดพยาธิสภาพที่สมองอย่างกว้างขวาง
และมักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที
4. ภายหลังจากการบาดเจ็บที่ศีรษะที่รุนแรง
มักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ความดันในโพรงกะโหลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบวมของเนื้อสมองและภาวะเลือดออกในช่องโพรงกะโหลก
จนเกิดการเบียดเนื้อสมองมากขึ้นอีกเป็นวงจรต่อเนื่องเป็นลำดับ หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
5. การแก้ไขภาวะการเพิ่มขึ้นของความดันในสมองสามารถกระทำได้ดังต่อไปนี้
1)ให้ยาลดบวมของสมอง, 2) จัดท่าให้ผู้ป่วยเพื่อช่วยเพิ่มการระบายของเลือดดำออกจากศีรษะ,
3) เพิ่มการระบายอากาศ, 4) การผ่าตัดสมอง
6. การประเมินและเฝ้าระวังผู้ป่วยภายหลังได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โดยประเมิน 1) การบันทึกสัญญาณชีพ, 2) การวัดความดันในโพรงกะโหลก,
3) การตรวจการรู้สติ, 4) การบันทึกขนาดรูม่านตา
7. วิธีการวัดค่าความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสามารถกระทำได้โดย
1) การใส่สายสวนคาในโพรงกะโหลก 2) การวัดความดันจากตำแหน่งใต้เยื่อหุ้มสมอง
3) การวัดความดันเนื้อเยื่อหุ้มสมอง
8. การตรวจการรู้สติในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะแบ่งเป็น
1) Glasgow Coma Scale, 2) การตรวจสัญญาณชีพ, 3) การตรวจขนาดรูม่านตา
4. กิจกรรมการเรียนการสอน
4.1 ขั้นนำ
1. ผู้สอนทบทวนความรู้เดิมของผู้เรียน โดยเริ่มจากแนะนำว่า
ผู้ป่วยทุกประเภทที่มารับการรักษา ผู้ให้การรักษาจะต้องยึดหลัก การซักประวัติ
ตรวจร่างกาย เพื่อประเมิน (assessment)ปัญหาผู้ป่วยก่อนจะสรุปปัญหาทั้งหมดที่พบ
แล้วจึงวางแผนการรักษา และให้การรักษาตามลำดับ
2. ผู้สอนนำอภิปรายโดยใช้คำถามดังนี้ ใครบ้างที่เคยมีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะบ้าง
ลองเล่าให้เพื่อนๆฟังซิว่า ลักษณะผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมี
ประวัติการบาดเจ็บ ลักษณะอาการ และอาการที่ตรวจพบอย่างไร (พยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนที่เคยมีประสบการณ์ในการรับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
เล่าประสบการณ์ที่ได้รับให้เพื่อนๆในห้องฟัง)
3. ผู้สอนแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียนว่า จะเรียนเรื่องการบาดเจ็บที่ศีรษะ
การตรวจประเมิน และวางแผนการรักษาทางกายภาพบำบัด
4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
1. ผู้สอนได้ให้ผู้เรียนแยกออกเป็นกลุ่มตามที่ได้ตกลงกันไว้
2. ผู้สอนแจกใบงานที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่จะเรียน
ให้กับผู้เรียนทุกคน
4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
ผู้สอนบอกให้ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน
โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน
โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดด้วยตนเอง ตามกระบวนการและองค์ประกอบของกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
เช่น 1) กระบวนการกำหนดประเด็นปัญหา 2) กระบวนการหาข้อสรุป 3) กระบวนการพิจารณาหาเหตุผลประกอบ
เป็นต้น
ผู้สอนพยายามสังเกต และบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ
กระตุ้นให้ผู้เรียนได้บันทึกในสิ่งที่ตนเองได้คิดอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดเวลา
และให้เวลาอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่
4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว
ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม
โดยให้สมาชิกได้อ่านสิ่งที่ตนได้คิดให้เพื่อนสมาชิกฟัง ขณะที่สมาชิกในกลุ่มที่เหลือตั้งใจฟังพร้อมจดบันทึกประเด็นสำคัญ
เพื่อเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิด ร่วมกันอภิปรายความเหมือน ความแตกต่าง
และกระบวนการคิด ช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม
ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป
4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่
โดยผู้สอนได้ใช้การคิดเลือกตัวแทนของกลุ่มตามวิธี TGT เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการแข่งขัน
เพื่อเร่งเร้าการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ร่วมกันอภิปราย แสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน
ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น
4.3 ขั้นสรุป
ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด
หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ได้
และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัย
ทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมด
อย่างชัดเจน
4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ
ผู้สอนแจกใบงานที่
2 ให้ผู้เรียนจับกลุ่มกับเพื่อนๆในกลุ่มย่อย กลุ่มละ 3
คน เพื่อฝึกการซักประวัติและตรวจร่างกาย และวางแผนให้การรักษาทางกายภาพบำบัด
ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บตามที่ได้รับมอบหมาย อย่างเป็นลำดับ สรุปข้อความรู้ที่ได้
ประเด็นปัญหาที่ได้จากการฝึกปฏิบัติ อภิปรายแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบในกลุ่มย่อย
ส่งตัวแทนนำเสนอผลการตรวจประเมินและวางแผนการรักษาผู้ป่วยในชั้นเรียน
โดยเพื่อนๆร่วมกันอภิปราย และแสดงความคิดเห็น และสรุปผลร่วมกัน
4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
ผู้สอนเสนอกรณีตัวอย่างผู้ป่วยใหม่ (ใบงานที่
3) ซึ่งเป็นกรณีศึกษา โดยให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวิธีการแก้ปัญหาผู้ป่วยรายดังกล่าวโดยร่วมกันเสนอแนวคิด
และการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผล พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ
5. การประเมินผล
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน
โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ
โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก
แบ่งออกเป็น
1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง
แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม
และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์
แนวคำถามแผนการสอนที่
1
1. การบาดเจ็บศีรษะแบ่งออกเป็นกี่ชนิด
อะไรบ้าง ชนิดไหนรุนแรงและต้องให้การเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
2. การตรวจร่างกายผู้ป่วยที่มีบาดเจ็บทำอย่างไร
ปัจจัยใดบ้างที่ควรให้ความตระหนักมากกว่าการบาดเจ็บบริเวณอื่นๆ
3. กายภาพบำบัดในผู้ปวยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมีอะไรบ้าง
ใบงานที่
1: เรื่องการบาดเจ็บที่ศึรษะ
-------------------------------------------------------------
คำชี้แจง
1.
หลังจากนักศึกษาได้อ่านเนื้อหาเรื่อง กายภาพบำบัดในผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บ
(ได้แจกให้อ่านก่อนการเรียนการสอน 1 สัปดาห์) ให้พิจารณาปัญหาผู้ป่วยที่ให้
2. พิจารณาประเด็นคำถาม
และตอบคำถามด้วยตนเองโดยพิจารณาจากเอกสารประกอบการสอน และตำราต่างๆในห้องสมุด
(หากต้องการ) โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ
15นาที
3. ให้รวมกลุ่มและปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม
เป็นเวลา 15 นาที
4. นำเสนอในกลุ่มใหญ่
ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาที
----------------------------------------------------
ปัญหาผู้ป่วย
ผู้ป่วยชายไทยอายุ
25 ปี ได้รับอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซด์คว่ำ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า
ในตอนแรกผู้ป่วยนอนนิ่ง ได้ช่วยกันหามขึ้นรถ ระหว่างทางมาโรงพยาบาลผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว
ขยับแขนขาบ้างเป็นระยะๆ สังเกตว่า ขยับข้างขวามากกว่าข้างซ้าย
การตรวจร่างกายเมื่อมาถึงโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง หลังบาดเจ็บ พบว่า
ผู้ป่วยมีความดันโลหิต 140/80 มม.ปรอท ชีพจร 70 ครั้ง/นาที หายใจ
30 ครั้ง/นาที ผู้ป่วยไม่ทำตามคำสั่ง เวลาหยิก เอามือข้างขวามาปัดได้
ส่วนข้างซ้ายยกขึ้นมาเฉยๆไม่ปัด รีเฟ็กซ์ ไว โดยทั่วไป และตรวจ
Babinski มีนิ้วหัวแม่เท้ากระดกขึ้น ทั้งสองข้าง ม่านตาเท่ากันทั้งสองข้าง
ตรวจไม่พบบาดแผล หรือความผิดปกติอย่างอื่น
ประเด็นคำถามที่ให้พิจารณา
1. สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บในผู้ป่วยราืยที่ท่านได้รับคืออะไร
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
2. ผู้ป่วยรายนี้มีภาวะการบาดเจ็บที่ศีรษะแบบประเภทไหน
เพราะอะไร จงยกเหตุผลประกอบสิ่งที่คิด?
3. การพยาการณ์โรคในผู้ป่วยรายนี้เป็นอย่างไร
เพราะเหตุใด?
4. ผู้ป่วยรายนี้จะมีอาการหนัก และอาจเป็นอันตรายจากสิ่งต่างๆอะไรบ้าง
จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ
5. ผู้ป่วยรายนี้จะมีก้อนเลือดในโพรงกะโหลกหรือไม่
ท่านทราบได้อย่างไร และจะส่งตรวจอะไรบ้าง?
6. การดูแลรักษาในระยะแรกควรทำอย่างไร
7. หากผู้ป่วยได้รับการตรวจพบว่า มีสมองบวม
ท่านจะมีวิธีการลดบวมของสมองได้อย่างไร
8. พยาธิสภาพของสมองหลังการบาดเจ็บที่ศีรษะ สามารถแบ่งออกเป็นกี่ระยะอะไรบ้าง?
ท่านคิดว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรในการแบ่ง?
9. เพราะเหตุใด เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของความดันในโพรงกะโหลกที่ได้รับบาดเจ็บ
จึงเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของเนื้อสมองตามมา หลักฐานหรือข้อมูลใดที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของสมองในทางที่รุนแรงมากขึ้น
?
10. จงอธิบายกลไกชดเชยเพื่อปรับสภาพภายในสมองภายหลังได้รับการบาดเจ็บอย่างรุนแรง
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? และหากปัญหาดังกล่าวเกิดในผู้ป่วยที่ยังเป็นเด็กอายุน้อยกว่า
12 ปี จะเกิดอาการ/อาการแสดงเช่นเดียวกับผู้ใหญ่หรือไม่ เพราะเหตุใด?
11. วิธีการบรรเทาความดัน หรือการแก้ไขภาวะความดันที่เพิ่มขึ้นในโพรงกะโหลกศีรษะ
เพื่อลดการบาดเจ็บเพิ่มเติมของเนื้อสมอง สามารถกระทำได้อย่างไรบ้าง
เพราะเหตุใด?
12. จงยกตัวอย่างกลุ่มอาการของผู้ป่วยที่อาจสับสนกับ
ภาวะ coma มา 1 อาการ พร้อมทั้งบอกสาเหตุและลักษณะอาการแสดงมาพอสังเขป?
ใบงานที่
2: การบาดเจ็บที่ศีรษะ
---------------------------------------------
คำชี้แจง
หลังจากนักศึกษาได้รับ
รายชื่อผู้ป่วย การวินิจฉัยเบื้องต้น เลขที่เตียงและตึกผู้ป่วยแล้ว
ให้นักศึกษาปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.ให้สมาชิกในแต่ละกลุ่ม
(กลุ่มละ 3คน) ซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยนักศึกษาทุกคนจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองไม่ปรึกษาหารือผู้อื่น
ใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เรียนมาในบทเรียนก่อนๆ
2.
ให้พิจารณาประเด็นคำถาม และตอบคำถามด้วยตนเองโดยพิจารณาจากเอกสารประกอบการสอน
และตำราต่างๆในห้องสมุด (หากต้องการ) โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ
25 นาที
3. ให้รวมกลุ่ม(กลุ่มละ
6 คน) และปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม
เป็นเวลา 20 นาที
4. นำเสนอในกลุ่มใหญ่
ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาที
----------------------------------------------------------------------
ประเด็นคำถามที่ให้พิจารณา
1. สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บโดยเฉพาะที่ศีรษะของผู้ป่วยรายที่ท่านได้รับคืออะไร
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
2. ผลของอุบัติเหตุในผู้ป่วยรายนี้มักนำมาสู่ปัญหาให้กับผู้ป่วยด้านใดมากที่สุด
เพราะเหตุใด?
3. จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย
พบปัญหาปัจจุบันของผู้ป่วยรายนี้คืออะไร? จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ?
4. ผลการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่า
Coma Score, Vital sign, รูม่านตาขณะส่องไฟ ของผู้ป่วยมีค่าเท่าใด?
5. ผู้ป่วยรายนี้มีข้อห้ามและข้อควรระวังอะไรบ้าง
จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ
6. การบาดเจ็บของผู้ป่วยรายนี้จัดเป็นลักษณะการบาดเจ็บประเภทใด
จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ?
7. หากจำเป็นต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัด
จะรักษาอะไรบ้าง จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ?
8. Prognosis ของผู้ป่วยเป็นอย่างไร
เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น?
ใบงานที่
3: แบบฝึกหัดการบาดเจ็บที่ศีรษะ
------------------------------------------------------------------
คำชี้แจง
1.ให้นักศึกษาฝึกทำแบบฝึกหัด ที่เป็นตัวอย่างกรณีผู้ป่วยเป็นการบ้าน
โดยพิจารณาปัญหาของผู้ป่วยที่ให้ ด้วยตนเองไม่ปรึกษากัน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่
somch_ra@kku.ac.th หรือ
ดูเฉลยได้ที่ http://ams.kku.ac.th/aalearn/resource/edoc/chest/solhead.pdf
-----------------------------------------------------------
ปัญหาผู้ป่วย 1
ผู้ป่วยชายไทยอายุ 50 ปี
ได้รับอุบัติเหตุจากรถชนกัน ผู้ป่วยสลบไปทันที มีผู้นำส่งโรงพยาบาล
20 นาที หลังบาดเจ็บ พบว่า ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ทำตามคำสั่งเวลาถูกหยิกให้เจ็บ
มีการเกร็งเหยียดของแขนขาทั้งสองข้าง ม่านตาข้างขวาโต และไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง
ส่วนม่านตามข้างซ้ายเล็กกว่าเล็กน้อย และมีปฏิกิริยาต่อแสง
คำถาม
1. ปัญหาของผู้ป่วยรายนี้มีอะไร?
จงสรุปประเด็นปัญหาที่พบจากข้อมูลที่ได้รับ และสมมติฐานที่เป็นไปได้จากประสบการณ์ที่ท่านมี
2. หากท่านเป็นผู้ให้การรักษา
ท่านจะมีวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยรายนี้อย่างไร?
3. การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยรายนี้เป็นอย่างไร?
เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น?
--------------------------------------------------
ปัญหาผู้ป่วย 2
ผู้ป่วยชายไทยอายุ 23 ปี
ถูกตีที่ศีรษะบริเวณกกหูขวา ด้วยไม้เนื้อแข็ง หมดสติไปประมาณ 2-3 นาที
ฟื้นขึ้นมามีอาการ บวม ฟกช้ำ บริเวณที่ถูกตี เวียนศีรษะมาก และคลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน
สามารถเดินได้ และสามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอด มาพบแพทย์
แพทย์ตรวจร่างกายแรกรับ ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ
คำถาม
1. ปัญหาของผู้ป่วยรายนี้มีอะไร?
และคาดว่ามีการบาดเจ็บของสมองประเภทใด? จงแสดงเหตุผลประกอบสิ่งที่คิดว่าจะเป็นไป
2. หากท่านจำเป็นต้องเป็นผู้ให้การรักษา
ท่านจะดูแลรักษาเบื้องต้นผู้ป่วยรายนี้อย่างไร?
3. การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น?
|