คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน | เอกสาร |
แผนการสอน11: การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและทรวงอก (เวลา 4 คาบ)

1 ความคิดรวบยอด
       การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังได้แก่ การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง 1) ส่วนคอ 2) ส่วนอก และ 3) ส่วนเอว โดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนคอ มักพบร่วมกับการบาดเจ็บที่ศีรษะ การปฐมพยาบาล การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล และการดูแลที่เหมาะสม จะสามารถช่วยลดความพิการและอัตราการตายจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังการบาดเจ็บได้ การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ไม่แตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากกระดูกหักทั่วไป คือ การจัดแนวกระดูกให้ถูกต้อง ตรึงให้อยู่กับที่ และแก้ไขผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ตามอาการ อาการแสดงที่ตรวจพบ
      การบาดเจ็บที่ทรวงอก มักเกิดจากการกระแทกของวัตถุที่ไม่มีคม เช่น ถูกเตะ ถูกตีจากของแข็ง หรือถูกแทงด้วยวัตถุมีคม ถูกแทงด้วยของแหลม มักทำให้เกิดการหักของกระดูกซี่โครง มีการช้ำของปอด มีการทะลุของปอดและเยื่อหุ้มปอด ซึ่งส่งผลต่อระบบการหายใจ เช่น ภาวะอกรวน ภาวะปอดแฟบ เป็นต้น

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
       1. อธิบายลักษณะและชนิดของการบาดเจ็บและผลแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและทรวงอก
       2. อธิบายกลไกของภาวะที่แทกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังจากการบาดเจ็บที่ผนังทรวงอกและปอด
       3. อธิบายและแสดงวิธีการตรวจประเมินผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและทรวงอก
       4. สามารถค้นหาและระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ปัญหา
       5. ระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและให้การรักษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
       6. สามารถตั้งสมมติฐาน ลงข้อสรุป และยืนยันข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผล

3. เนื้อหา

     1. การบาดเจ็บของกระดูกสันหลังแบ่งออกเป็น 1) การบาดเจ็บของกระดูกส่วนคอ (cervical) 2) การบาดเจ็บของกระดูกส่วนอก (thoracic), 3) การบาดเจ็บของกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar)
     2. การบาดเจ็บของกระดูกสันหลังส่วนคอมักเกิดร่วมกับการบาดเจ็บที่ศีรษะ
     3. ลักษณะของการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง กรณีที่การบาดเจ็บไม่รุนแรง มักจะพบมีการแตกหักของกระดูกส่วน body เกิดการฉีกขาดของ ligaments หากการบาดเจ็บรุนแรง มักเกิดการแตกหักของกระดูกส่วนด้านหลังต่อ body เป็นผลให้เกิดการเคลื่อนของกระดูกสันหลัง จนเกิดการบาดเจ็บของไขสันหลัง
     4. ผลจากการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังมักทำให้เกิดการบาดเจ็บของไขสันหลังร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการเป็นอัมพาตชนิด paraplegia และ quadriplegia
     5. การปฐมพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บของกระดูกสันหลังที่ถูกต้อง สามารถลดความพิการและป้องกันผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
     6. การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง ไม่แตกต่างจากรักษาผู้ป่วยที่กระดูกหักทั่วไปโดยการจัดแนวกระดูกให้ถูกต้อง และตรึงให้อยู่นิ่ง ด้วยเหล็กดามภายในและลวดผูก (ORIF) การใส่เฝือกลำตัว หรือ ใส่ extension brace ขึ้นกับความรุนแรงและความมั่นคงของแนวกระดูกสันหลัง
     7. เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนคอบอบบางและไม่มีโครงสร้างอื่นมาช่วยเสริมความแข็งแรง จึงมักพบการบาดเจ็บกระดูกสันหลังส่วนคอร่วมกับการบาดเจ็บศีรษะมากที่สุด ทำให้เกิดการบาดเจ็บของไขสันหลังส่วนคอ หากกระดูกที่แตกนั้นไม่สามารถจัดแนวให้เข้าที่และตรึงด้วยการผ่าตัดแล้ว แพทย์มักรักษาด้วยการนอนบนเตียง stryker flame ร่วมการดึงกะโหลกให้กระดูกติดเอง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
      8. ผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของไขสันหลังระดับสูงทำให้เกิดอัมพาตชนิด quadriplegia มักมีปัญหาด้านการหายใจ เนื่องจากสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อช่วยการหายใจ และในระยะแรกจำเป็นต้องเจาะคอและใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงส่งผลให้เกิดผลแทรกซ้อนทางด้านทรวงอก
      9. การบาดเจ็บที่กระดูกที่ทรวงอกอาจเกิดจากการกระแทกของวัตถุที่ไม่มีความได้แก่ การถูกเตะ ถูกตีด้วยของแข็ง และวัตถุมีความได้แก่ การถูกแทงด้วยของแหลม
    10. ผลการบาดเจ็บมักทำให้เกิดการหักของกระดูกซีโครง การบาดช้ำของปอด การทะลุของเนื้อเยื่อปอดและปอด
    11. ผลแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บที่ปอดและเยื่อหุ้มปอดฉีกขาดได้แก่ 1) เกิดภาวะอกรวน (flail chest) 2) ภาวะปอดแฟบ เป็นต้น
    12. ภาวะอกรวน เกิดจากการการไม่มั่นคงของโครงกระดูกทรวงอก (กระดูกซึ่โครงหักเป็นหลายท่อน) ทำให้กลไกการหายใจปกติเสียไป กล่าวคือ ขณะหายใจเข้าทรวงอกบริเวณที่ซีโครงหักจะเกิดการยุบตัวลง และกลับขยายโป่งออกขณะหายใจออก (paradoxical breathing) การรักษามักกระทำได้โดยพยายามให้ซีโครงส่วนที่หักนั้นเกิดการอยู่นิ่งและแข็งแรงพอขณะมีการหายใจเข้าออก สามารถกระทำได้โดยการปิดทับผนังทรวงอกส่วนนั้นๆด้วยแผ่นพลาสติกที่สะอาด หรือใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันบวก
    13. ภาวะปอดแฟบ (atelectasis) ชนิดที่เกิดจากการบาดเจ็บของเยื่อหุ้มปอดและเนื้อปอด มักเกิดจากลมที่รั่วเข้ามาในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) ดันให้ปอดขยายตัวไม่ได้ปกติ จนแฟบเล็ก ภาวะปอดแฟบเนื่องจากลมรั่วเข้าปอด มักเบียดให้ mediastinum เคลื่อนไปด้านตรงข้ามกับปอดด้านที่แฟบเสมอ
    14. การตรวจประเมินผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บของไขสันหลังและทรวงอกที่สำคัญคือ ประเมินระดับของการบาดเจ็บของไขสันหลังโดยประเมินการสูญเสียความรู้สึก กำลังกล้ามเนื้อ รีเฟ็กซ์ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ช่วยการหายใจ และประเมินกายภาพบำบัดของระบบหายใจโดยเฉพาะ รูปแบบการหายใจ ชนิด (mode) ของเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
   

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
    
    4.1 ขั้นนำ

   1. เริ่มต้นผู้สอนทักทายผู้เรียน โดยเริ่มจาก ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุส่วนมาก มักจะไม่มีการบาดเจ็บเฉพาะที่ศีรษะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มักมีการบาดเจ็บส่วนอื่นๆร่วมด้วย จากนั้นพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนพบทวนสิ่งที่ตนเองมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บว่า มักพบมีการบาดเจ็บส่วนใดบ้าง
   2. ผู้สอนนำอภิปรายว่า เพราะเหตุใดผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ จึงมีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง และกระดูกทรวงอกร่วมด้วยเสมอ และผลแทรกซ้อนเหล่านั้นมีผลแทรกซ้อนทางทรวงอกหรือไม่ และกายภาพบำบัดจะมีส่วนช่วยเหลือ หรือร่วมรักษาอย่างไร ?
   3. ผู้สอนแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียนว่า จะเรียนเรื่อง การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและทรวงอก

   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
    ผู้สอนแจกใบงานที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่จะเรียน ให้กับผู้เรียนทุกคน

    4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
     ผู้สอนบอกให้ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดด้วยตนเอง ตามกระบวนการและองค์ประกอบของกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เช่น 1) กระบวนการกำหนดประเด็นปัญหา 2) กระบวนการหาข้อสรุป 3) กระบวนการพิจารณาหาเหตุผลประกอบ เป็นต้น
    ผู้สอนพยายามสังเกต และบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ กระตุ้นให้ผู้เรียนได้บันทึกในสิ่งที่ตนเองได้คิดอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดเวลา และให้เวลาอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม โดยให้สมาชิกได้อ่านสิ่งที่ตนได้คิดให้เพื่อนสมาชิกฟัง ขณะที่สมาชิกในกลุ่มที่เหลือตั้งใจฟังพร้อมจดบันทึกประเด็นสำคัญ เพื่อเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิด ร่วมกันอภิปรายความเหมือน ความแตกต่าง และกระบวนการคิด ช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
  ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ โดยผู้สอนได้ใช้การคิดเลือกตัวแทนของกลุ่มตามวิธี TGT เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการแข่งขัน เพื่อเร่งเร้าการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ร่วมกันอภิปราย แสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
          ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ได้ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
           เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัย ทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมด อย่างชัดเจน

   4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ 
      ผู้สอนแจกใบงานที่ 2 ให้ผู้เรียนจับกลุ่มกับเพื่อนๆในกลุ่มย่อย กลุ่มละ 3 คน เพื่อฝึกการซักประวัติและตรวจร่างกาย และวางแผนให้การรักษาทางกายภาพบำบัด ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บตามที่ได้รับมอบหมาย อย่างเป็นลำดับ สรุปข้อความรู้ที่ได้ ประเด็นปัญหาที่ได้จากการฝึกปฏิบัติ อภิปรายแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบในกลุ่มย่อย
     นำเสนอผลการตรวจประเมิน และวางแผนการรักษาผู้ป่วย ในชั้นเรียน โดยเพื่อนๆร่วมกันอภิปราย และแสดงความคิดเห็น

   4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
   ผู้สอนเสนอกรณีตัวอย่างผู้ป่วยใหม่ในใบงานที่ 3 ซึ่งเป็นกรณีศึกษา โดยให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวิธีการแก้ปัญหาผู้ป่วยรายดังกล่าวโดยร่วมกันเสนอแนวคิด และการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผล พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ


5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์


แนวคำถามแผนการสอนที่ 1


      1. การบาดกระดูกสันหลังแบ่งออกเป็นกี่ชนิด อะไรบ้าง ชนิดไหนรุนแรงและต้องให้การเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
      2. การปฐมพยาบาลและการตรวจร่างกายผู้ป่วยที่มีบาดเจ็บกระดูกสันหลังทำอย่างไร ปัจจัยใดบ้างที่ควรให้ความตระหนักมากกว่าการบาดเจ็บบริเวณอื่นๆ
      3. ผลแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บกระดูกสันหลกายภาพบำบัดในผู้ปวยที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลังมีอะไรบ้าง


ใบงานที่ 1: เรื่องการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและทรวงอก
-------------------------------------------------------------

  คำชี้แจง
         1. หลังจากนักศึกษาได้อ่านเนื้อหาเรื่อง กายภาพบำบัดในผู้ป่วยภาวะบาดเจ็บ (ได้แจกให้อ่านก่อนการเรียนการสอน 2 สัปดาห์) ให้พิจารณาปัญหาผู้ป่วยที่ให้
         2. พิจารณาประเด็นคำถาม และตอบคำถามด้วยตนเองโดยพิจารณาจากเอกสารประกอบการสอน และตำราต่างๆในห้องสมุด (หากต้องการ) โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ 15นาที
        3. ให้รวมกลุ่มและปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลา 15 นาที
        4. นำเสนอในกลุ่มใหญ่ ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาที

----------------------------------------------------

ปัญหาผู้ป่วย
          ผู้ป่วยชายไทยอายุ 21 ปี ได้รับอุบัติเหตุจากการขับรถมอเตอร์ไซด์ชนกับรถยนต์ ไม่หมดสติ หลังการบาดเจ็บมีการชาตั้งแต่ระดับหน้าอกลงมา ไม่สามารถขยับแขนขาได้ หายใจหอบเหนื่อย การตรวจร่างกายเมื่อมาถึงโรงพยาบาล 30 นาที หลังบาดเจ็บ แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังระดับ C5-6 แตกหักและเคลื่อนผิดแนว กระดูกซีโครงระดับ 2,3,4,5 ด้านขวาหักเป็นหลายท่อน แทงทะลุเยื่อหุ้มปอด และปอด จนเกิดภาวะลมและเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด (hemo-pneumothorax) และภาวะปอดข้างขวาแฟบ (Rt LLL atelectasis) ขณะนี้แพทย์ได้เจาะกะโหลกและตรึงด้วยน้ำหนักเพื่อดึงแนวกระดูกสันหลังคอ นอนบนเตียง styker flame และใส่สายระบายเลือดและลม (chest drain) ข้างขวาผ่านลงขวด 3 ขวด และเครื่องดูดอากาศและเลือด ได้ของเหลวสีแดงคล้ำเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ผู้ป่วยมีสัญญานชีพปกติ สามารถพูดคุยได้ดี

ประเด็นคำถามที่ให้พิจารณา

    1. จากสถานการณ์ที่กำหนด ท่านเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ว่า 1) ผู้ป่วยมีภาวะกระดูกสันหลังระดับ C5,6 แตกหักและเคลื่อนผิดแนว, 2) ผู้ป่วยมีกระดูกซึ่โครงระดับ 2,3,4,5 ด้านขวาหักเป็นท่อน แทงทะลุเยื่อหุ้มปอดและปอด จนเกิดภาวะ Rt. hemo-pneumothorax และ Rt. LLL atelectasis หรือไม่? และสามารถตรวจสอบประเด็นดังกล่าวว่าถูกต้องจริงได้อย่างไร? จงแสดงเหตุผล/หลักฐานประกอบการอธิบายในประเด็นที่เป็นไปได้
    2. ท่านสามารถอธิบายถึงความแตกต่างอย่างไร? ระหว่างภาวะ pneumo-thorax และภาวะ fail chest ในประเด็น สาเหตุ อาการ อาการแสดง หลักฐานการวินิจฉัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์และทางกายภาพบำบัดเบื้องต้น
    3. หากท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลทางด้านกายภาพบำบัดในผู้ป่วยรายนี้ ท่านจะมีวิธีการประเมิน และให้การรักษาทางกายภาพบำบัดกับผู้ป่วยอย่างไร จงแสดงเหตุผลต่อประเด็นดังกล่าว?
    4. จงวาดรูปแสดงวิธีการต่อขวดเพื่อระบายอากาศและเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอดของผู้ป่วยรายนี้ ในมุมมองที่เป็นไปได้?
    

ใบงานที่ 2: การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและทรวงอก
---------------------------------------------

คำชี้แจง
           หลังจากนักศึกษาได้รับ รายชื่อผู้ป่วย การวินิจฉัยเบื้องต้น เลขที่เตียงและตึกผู้ป่วยแล้ว ให้นักศึกษาปฏิบัติดังต่อไปนี้
          1.ให้สมาชิกในแต่ละกลุ่ม (กลุ่มละ 3คน) ซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยนักศึกษาทุกคนจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองไม่ปรึกษาหารือผู้อื่น ใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เรียนมาในบทเรียนก่อนๆ
          2. ให้พิจารณาประเด็นคำถาม และตอบคำถามด้วยตนเองโดยพิจารณาจากเอกสารประกอบการสอน และตำราต่างๆในห้องสมุด (หากต้องการ) โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเองไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ 25 นาที
         3. ให้รวมกลุ่ม(กลุ่มละ 6 คน) และปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลา 20 นาที
         4. นำเสนอในกลุ่มใหญ่ ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------------

ประเด็นคำถามที่ให้พิจารณา
       1. สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง/ทรวงอกของผู้ป่วยรายที่ท่านได้รับคืออะไร เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
       2. ผลของอุบัติเหตุในผู้ป่วยรายนี้มักนำมาสู่ปัญหาให้กับผู้ป่วยด้านใดมากที่สุด เพราะเหตุใด?
       3. จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย พบปัญหาของผู้ป่วยเมื่อตอนที่ผู้ป่วยถูกส่งมาโรงพยาบาลครั้งแรกหลังบาดเจ็บ การรักษาในระยะแรก และปัญหาปัจจุบันของผู้ป่วยรายนี้คืออะไร? จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ?
       4. ท่านได้ซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยรายนี้อย่างไรบ้าง? จงแสดงเหตุผลว่าทำไมจึงตรวจเช่นนั้น?
       5. แพทย์ได้วินิจฉัยโรคของผู้ป่วยว่ามีปัญหาอะไร? ท่านสามารถตรวจสอบประเด็นดังกล่าวว่าถูกต้องจริงได้อย่างไร? และใช้หลักฐานอะไรบ้าง?
       6. ผู้ป่วยรายนี้มีข้อห้ามและข้อควรระวังอะไรบ้าง จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ
       7. หากจำเป็นต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัด จะรักษาอะไรบ้าง จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบ?
       8. Prognosis ของผู้ป่วยเป็นอย่างไร เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น?


ใบงานที่ 3: แบบฝึกหัดการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและทรวงอก
------------------------------------------------------------------

คำชี้แจง
     1.ให้นักศึกษาฝึกทำแบบฝึกหัด ที่เป็นตัวอย่างกรณีผู้ป่วยเป็นการบ้าน โดยพิจารณาปัญหาของผู้ป่วยที่ให้ ด้วยตนเองไม่ปรึกษากัน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ somch_ra@kku.ac.th

-----------------------------------------------------------

ปัญหาผู้ป่วย 1
       ผู้ป่วยชายไทยอายุ 30 ปี ได้รับอุบัติเหตุจากรถชนกัน ผู้ป่วยสลบไปทันที มีผู้นำส่งโรงพยาบาล 40 นาที หลังบาดเจ็บ พบว่า ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ทำตามคำสั่งเวลาถูกหยิกให้เจ็บ มีการเกร็งเหยียดของแขนขาทั้งสองข้าง ได้รับการใส่สายระบายทรวงอกบริเวณชายโครงด้านซ้าย ใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก และเครื่องช่วยหายใจ Bird's respirator สัญญาณชีพปกติ

คำถาม
       1. ปัญหาของผู้ป่วยรายนี้มีอะไร? จงสรุปประเด็นปัญหาที่พบจากข้อมูลที่ได้รับ และสมมติฐานที่เป็นไปได้จากประสบการณ์ที่ท่านมี
       2. หากท่านเป็นผู้ให้การรักษา ท่านจะมีวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยรายนี้อย่างไร?
       3. การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยรายนี้เป็นอย่างไร? เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น?

--------------------------------------------------


ปัญหาผู้ป่วย 2
       ผู้ป่วยชายไทยอายุ 25 ปี ได้รับอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน ไม่รู้สติ มีผู้นำส่งโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่ามีการบาดเจ็บของสมองและกระดูกสันหลังระดับ C1-2 dislocation ได้รับการดึงกะโหลกบนเตียง styker flame ยังไม่ได้สติ ขณะนี้ผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว ไม่ทำตามคำสั่งเวลาถูกหยิกให้เจ็บ ไม่สามารถขยับแขนขาทั้งสองข้าง สัญญาณชีพปกติ

คำถาม
        1. ปัญหาของผู้ป่วยรายนี้มีอะไร? และคาดว่ามีการบาดเจ็บของสมองประเภทใด? จงแสดงเหตุผลประกอบสิ่งที่คิดว่าจะเป็นไป
        2. หากท่านจำเป็นต้องเป็นผู้ให้การรักษา ท่านจะดูแลรักษาเบื้องต้นผู้ป่วยรายนี้อย่างไร?
        3. การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร? เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น?




 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |