คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน | เอกสาร |
แผนการสอนที่ 1: กระแสไฟฟ้าที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัด 1 (เวลา 4 คาบ)

1 ความคิดรวบยอด
       เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ใช้สำหรับกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เพื่อการบำบัดรักษา ภายในตัวเครื่องประกอบด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อปรับเปลี่ยนกระแสสลับให้เป็นกระแสชนิดต่างๆ ให้เหมาะสมกับการกระตุ้นเพื่อการรักษา เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยทั่วไปมักประกอบด้วยปุ่มต่างๆ ได้แก่ ปุ่มปรับความแรง/ความเข้มกระแส ปุ่มเลือกชนิดของกระแส ปุ่มปรับช่วงกระตุ้น และปุ่มปรับช่วงพัก เป็นต้น

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
       1. อธิบายลักษณะทั่วๆไปของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้
       2. อธิบายวิธีการและจุดประสงค์ของการติดตั้งและทดสอบเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อเบื้องต้น ก่อนใช้งานได้
       3. แสดงวิธีการทดสอบเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อ
       4. อธิบายและแสดงวิธีการตรวจสอบ และป้องกันไฟรั่วจากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทเบื้องต้น

3. เนื้อหา

  1. เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัด ที่ให้กระแสไฟฟ้าชนิดต่าง สำหรับกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เพื่อการรักษา
   2. เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปมักประกอบด้วยปุ่มปรับต่างๆ เช่น ปุ่มปรับความแรงของกระแส ปุ่มเลือกชนิดของกระแส ฯลฯ และช่องเสียบสายต่อมายังขั้วกระตุ้น โดยทั่วไปมักใช้ขั้วกระตุ้น 2 ขั้วต่อ 1 วงจร
   3. วัตถุประสงค์ของการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาททางกายภาพบำบัดได้แก่ 1) ชะลอการลีบของกล้ามเนื้อ, 2) ช่วยเพิ่มการไหลเวียนและลดบวม, 3) บรรเทาอาการปวด, 4) การผลักดันตัวยาเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น
   4. ชนิดของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อมักแบ่งตามชนิดของกระแสไฟฟ้าที่เครื่องนั้นๆสร้างขึ้น เช่น เครื่องกระตุ้นกระแสไฟตรงที่ปล่อยเป็นช่วงๆ (IDC), เครื่องกระตุ้นกระแสฟาราดิก, เครื่องกระตุ้นกระแสไฟสลับ เป็นต้น
  5. การวัดกระแสไฟฟ้าเบื้องต้นมักใช้เครื่องมือต่างๆดังต่อไปนี้ ไขควงทดสอบกระแส, โวลต์มิเตอร์, แอมมิเตอร์, มัลติมิเตอร์
   

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
    
    4.1 ขั้นนำ

   1. เริ่มต้นโดยผู้สอนทักทายนักเรียน นำเข้าสู่บทเรียน ด้วยการพูดว่า นักเรียนทุกคนในห้องนี้ คงเคยมีประสบการณ์จากการถูกไฟดูดหรือเคยพบเห็น ซึ่งบางคนอาจหมดสติ หรือเกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ เกิดรอยไหม้ บางรายอาจเสียชีวิต แต่เชื่อหรือไม่ว่า เราสามารถใช้กระแสไฟดังกล่าว เพื่อใช้กระตุ้น ในลักษณะถูกไฟดูด เพื่อหวังผลทางด้านการรักษา ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้นำไปใช้ในด้านเสริมความงาม เช่น การลดไขมันส่วนเกินในบริเวณต่างๆของร่างกาย
   2. จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ ที่ถูกไฟดูด, กระแสไฟฟ้าที่ตัวเองมีประสบการณ์ ฯลฯ และให้นักเรียนช่วยกันคิดว่า หากจะนำกระแสไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดผลด้านการรักษานั้น เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ? มีเหตุผลอย่างไร ? และสามารถอธิบายได้อย่างไร?
   3. ทบทวนความรู้เดิมของผู้เรียนสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ในด้านกระแสไฟฟ้า ฟิสิกส์ของไฟฟ้า และแสดงเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อแบบต่างๆ แสดงวิธีการกระตุ้นให้นักเรียนเห็นจริงตามที่พูด จากนั้นบอกจุดมุ่งหมายการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอนในครั้งนี้

   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
   ผู้สอนแจกใบงานซึ่งเป็นเนื้อหาที่จะเรียน ได้แก่ เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ชนิดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้น การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าทางคลินิก และการวัดและการทดสอบกระแสไฟฟ้าให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อย

    4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
   ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงานที่ 1-4 ที่แนบมา และกิจกรรมที่มอบหมายให้ โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและจับประเด็นในเนื้อหา อย่างไตร่ตรอง และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหาและตอบคำถามในใบงานที่ได้รับด้วยคำพูดของตนเอง และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มต่อไป
    ผู้สอนพยายามสังเกต และบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ กระตุ้นให้ผู้เรียนได้บันทึกในสิ่งที่ตนเองได้คิดอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดเวลา และให้เวลาอย่างเพียงพอเป็นเวลา 20 นาที เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่มในประเด็นปัญหาที่ได้รับมอบหมาย ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่น โดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
   ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียน 3 กลุ่ม ให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ ผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันอภิปราย แสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
          ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน

   4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ 
   ผู้สอนให้ผู้เรียนในแต่ละกลุ่มย่อย ร่วมกันติดตั้งและทดสอบเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทก่อนการใช้งานตามลำดับตามคู่มือปฏิบัติการที่ให้ (ปฏิบัติการที่1 ในเอกสารประกอบคำสอน) โดยพยายามพิจารณาถึงหลักการและเหตุผล ดังต่อไปนี้ 1) ศึกษาระบบสายไฟหลักและการติดตั้งเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อ โดยให้ต่อวงจรและเขียนแผนภูมิการต่อสายไฟมายังเครื่องกระตุ้น 2) ทดสอบไฟรั่วจากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยใช้หลังมือสัมผัสตัวเครื่องส่วนที่เป็นโลหะและการใช้เครื่องทดสอบกระแสอย่างง่าย 3) ทดสอบกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกจากเครื่องกระตุ้นชนิดต่างๆตามคู่มือประกอบการเรียนการสอน
   ให้แต่ละกลุ่มสรุปผลการทดลองในกลุ่มย่อย และนำเสนอในกลุ่มใหญ่ตามลำดับ

   4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
   ผู้สอนเสนอกรณีตัวอย่างในการติดตั้งเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อใหม่ชนิดใหม่ โดยให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวิธีการติดตั้งและแก้ปัญหา ร่วมกันเสนอแนวคิดและวิธีการที่เหมาะสม พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ
   มอบหมายให้ผู้เรียนได้ทำงานกลุ่มเป็นโครงการ โดยการรวบรวม web page เกี่ยวกับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำทางกายภาพบำบัด เพื่อนำเสนอในในสัปดาห์ต่อไป (ให้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์)


5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์


แนวคำถามแผนการสอนที่ 1


      1. การจับสายไฟฟ้าชำรุดจนเห็นลวดทองแดง จะเกิดไฟดูดจนกล้ามเนื้อเกิดการหดตัวเกร็งค้าง ซึ่งไม่แตกต่างจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อดูดให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวเพื่อการรักษา ในความคิดเห็นของท่าน เห็นด้วยกับคำกล่าวดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร จงแสดงเหตุผลต่อประเด็นดังกล่าว และท่านคิดว่า เพราะเหตุใดการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อดูดกล้ามเนื้อให้เกิดการหดตัวจึงไม่เป็นอันตรายเหมือนกับการถูกไฟดูด
      2. จงเขียนแผนผังวงจร การเชื่อมต่อเพื่อแสดงการติดตั้งเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท จากสายไฟหลัก (main) มายังเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ท่านใช้งานอยู่
      3. จงเขียนแผนผังวงจรการเชื่อมต่อวงจรเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและหากท่านต้องการวัด 1) ปริมาณกระแสไฟฟ้า, 2) ศักย์ไฟฟ้าที่ปล่อยออกจากเครื่องกระตุ้น จะมีวิธีการเชื่อต่ออย่างไร
      4. จงยกตัวอย่างกระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทตามที่ท่านทราบ พร้อมทั้งเขียนรูปประกอบคำอธิบาย
      5. ท่านสามารถเขียนผังแสดงปุ่มต่างๆที่สำคัญของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ท่านทราบได้หรือไม่


ใบงานแผนการสอนที่ 1
-------------------------------------------------------------

1. คำชี้แจง
   1. หลังจากนักศึกษาได้รับเนื้อหาใบงานที่ 1-4 ที่แจกให้อ่าน ให้พิจารณาเนื้อหาและประเด็นคำถามด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ 20 นาที
   2. ให้รวมกลุ่มย่อยและปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเนื้อหาและความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลา 20 นาที
  3. ส่งตัวแทนตามที่กำหนด นำเสนอกลุ่มใหญ่ ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------

ใบงานที่1 : เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

          เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดชนิดหนึ่งที่สร้างกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำ เพื่อสำหรับกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทเพื่อการบำบัดรักษา และการวินิจฉัยโรค ลักษณะตัวเครื่องโดยทั่วไปมักประกอบด้วยปุ่มต่างๆ ได้แก่ 1) ปุ่มปรับความแรงของการกระตุ้นมีหน่วยเป็น mV หรือ mA, 2) ปุ่มปรับช่วงการกระตุ้นมักมีหน่วยเป็น ms, 3) ปุ่มปรับช่วงพักมักมีหน่วยเป็น ms} 4)ปุ่มเลือกลักษณะของกระแสที่ใช้กระตุ้น เป็นต้น เครื่องกระตุ้นโดยทั่วไปมักมีรูสำหรับเสียบสายเพื่อต่อกับขั้นกระตุ้น 2 รู
     1) ท่านคิดว่าเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทมีลักษณะอย่างไร ? และมีปุ่มต่างๆอะไรบ้าง?
     2) จงเขียนลักษณะของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ท่านคิดว่าจะเป็นไป พร้อมทั้งแสดงปุ่มต่างๆตามที่ท่านทราบ


--------------------------------------------------------------

ใบงานที่ 2: ชนิดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้น

           กระแสที่สร้างจากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท มีหลายชนิด การเรียกชื่อชนิดของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อมักเรียกตามชื่อของกระแสไฟฟ้าที่เครื่องกระตุ้นนั้นสร้าง กระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นได้แก่ 1) กระแสไฟแกลแวนิก หรือกระแสไฟตรง, 2) กระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆ, 3) กระแสไฟฟาราดิก, 4) กระแสไฟสลับ เป็นต้น
     1) ท่านคิดว่ากระแสไฟที่ใช้กระตุ้นมีอะไรอีกบ้าง และกระแสแต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร?
     2) จงเขียนภาพลักษณะกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นทางกายภาพบำบัด ตามที่ท่านทราบมาทั้งหมด พร้อมทั้งบอกความเหมือนและความแตกต่างของกระแสต่างๆดังกล่าว


----------------------------------------------------


ใบงานที่ 3: การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าทางคลินิก

             การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นทางกายภาพบำบัดในปัจจุบันนิยมเพื่อ 1) กระตุ้นเพื่อชะลอการลีบเล็กของกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง (partial denervated muscle), 2) กระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนและลดบวม, 3) กระตุ้นเพื่อการระงับปวด, 4) การผลักดันตัวยาเข้าสู่ร่างกายเพื่อการรักษา (iontophoresis) ฯลฯเป็นต้น
    1. ท่านทราบหรือไม่ว่า กระแสไฟฟ้าทำให้เกิดผลการรักษาต่างๆได้อย่างไร? จงอธิบายและแสดงเหตุผล
    2. ท่านทราบหรือไม่ว่า ผลการรักษาต่างๆนั้น เกิดจากส่วนใดของกระแสไฟฟ้า เช่น กระแสไฟฟ้า ประจุไฟฟ้า หรือศักย์ไฟฟ้า เป็นต้น

------------------------------------------------------------------

ใบงานที่ 4: การวัดและทดสอบกระแสไฟฟ้า

                กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมองไม่เห็น จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางในการการส่งผ่าน พลังงานไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นพลังงานความร้อน พลังงานแสง เสียง เป็นต้น ดังนั้นการจะตรวจสอบว่าที่จุดใดมีกระแสไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือในการตรวจวัด ตัวอย่างเครื่องมือตรวจวัดกระแสไฟฟ้าได้แก่ 1)ไขควงทดสอบไฟฟ้า, 2) แอมมิเตอร์, 3) โวลท์มิเตอร์, 4) มัลติมิเตอร์ ฯลฯ เป็นต้น
     1) ท่านทราบหรือไม่ว่า ตัวกลางที่ดีสำหรับกระแสไฟฟ้าคืออะไร?
     2) หน่วยที่นิยมวัดกระแสไฟฟ้าได้แก่อะไรบ้าง ?
     3) จงอธิบายความหมายของหน่วยวัดต่างๆดังกล่าวมาโดยละเอียด?
     4) เครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดกระแสไฟฟ้าได้แก่อะไรบ้างจงอธิบายชนิดของเครื่องมือต่างๆ และหลัก
การวัดเครื่องมือต่างๆดังกล่าวด้วย

-----------------------------------------------------------

 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |