คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน | เอกสาร |
แผนการสอนที่ 4: การกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกลแวนิก (เวลา 4 คาบ)

1 ความคิดรวบยอด
       กระแสไฟแกลแวนิกหรือกระแสไฟตรง มักเป็นกระแสสร้างจากกระแสไฟสลับที่ผ่านวงจร rectifier มักเกิดผลแทรกซ้อนทำให้เกิดแผลพองหรือการไหม้ จากปฏิกิริยาไฟฟ้า-เคมี ไฟฟ้า-ความร้อน ในปัจจุบันมักนิยมใช้เพื่อผลักดันตัวยาผ่านผิวหนัง (inontophoresis) และมักใช้ร่วมกับกระแสชนิดอื่นๆในการลดศักย์ไฟฟ้าที่เยื่อหุ้มเซลล์ (membrane potential) เพื่อสามารถกระตุ้นให้เซลล์เกิดการตอบสนองได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้ร่วมกับกระแสไดอะไดนามิกส์ เป็นต้น

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
        1. อธิบายลักษณะเฉพาะและประโยชน์ ของกระแสไฟแกลแวนิก
        2. อธิบายผลที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกลแวนิกทางกายภาพบำบัดได้
        3. สามารถอธิบายข้อบ่งชี้ และข้อควรระวังและผลแทรกซ้อนของการกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกลแวนิกได้
        4. แสดงวิธีการทดสอบคุณสมบัติของกระแสไฟตรงและกระแสไฟแกลแวนิก
        5. แสดงวิธีการกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกลแวนิก

3. เนื้อหา

   1. กระแสไฟแกลแวนิกหรือกระแสไฟตรง เป็นกระแสที่สร้างจากเซลล์ไฟฟ้าหรือไฟกระแสสลับโดยผ่านวงจร rectifier เพื่อเปลี่ยนไฟสลับเป็นไฟตรง
   2. ผลของกระแสไฟแกลแวนิก ทำให้เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้า-เคมี ไฟฟ้า-ความร้อน จากปฏิกิริยาของขั้วไฟฟ้า
   3. กระแสไฟฟ้าแกลแวนิกมักใช้กระตุ้นในการผลักดันตัวยาผ่านผิวหนัง และมักใช้ร่วมกับกระแสไฟชนิดอื่นๆในการลดศักย์ไฟฟ้าที่เยื่อหุ้มเซลล์ (membrane potential) เพื่อให้สามารถกระตุ้นให้เซลล์เกิดการตอบสนองได้ง่ายขึ้น มักเป็นผลจากการตอบสนองทางจิตวิทยาและ/หรือระบบประสาทที่ทำงานผิดปกติ
   4. กระแสไฟฟ้าแกลแวนิกไม่นิยมใช้กระตุ้น เนื่องจากมักเกิดผลแทรกซ้อนทำให้เกิดแผลพองหรือการไหม้ (burn) จากปฏิกิริยาไฟฟ้า-เคมี ไฟฟ้า-ความร้อนใต้ขั้วได้ง่าย เนื่องจากช่วงการกระตุ้นของกระแสไฟแกลแวนิกยาวมาก และไม่มีช่วงพักขณะทำการกระตุ้น
   5. ผลกระแสไฟฟ้าแกแวนิกมีดังต่อไปนี้ 1) ไฟฟ้า-ความร้อน, 2) ไฟฟ้า-เคมี, 3) ไฟฟ้า-ฟิสิกส์, 4) ผลการดึงน้ำออกจากเซลล์, 5) ผลการเกิดผื่นแดง(hyperemia) ที่ผิวหนัง, 6) เกิดการทำให้สงบ (sedation), 7) ผลการเปลี่ยนแปลงศักย์ไฟฟ้าเยื่อหุ้มเซลล์, 8) ผลการผลักดันไอออนสู่เนื้อเยื่อ (iontophoresis)
   6. การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าแกลแวนิกทางคลินิกมักนิยม 1) ใช้ระงับปวด, 2) ใช้ลดบวม, 3) ใช้ผลักดันไอออนของตัวยา
  7. ข้อระวังในการกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกลแวนิก 1) ไม่ควรกระตุ้นเป็นเวลานานหรือเปิดไฟแรงเกินไป 2) ไม่ควรวางขั้วกระตุ้นบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเปิด, 3) บริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ, 3) บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูก, 4) ผิวหนังที่สูญเสียความรู้สึกรับรู้ 5) ผิวหนังที่แห้งและหยาบหนา หรือเป็นแผลเป็น ผิวหนังของผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมักแห้งกว่าวัยอื่นๆ

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
    
    4.1 ขั้นนำ

   เริ่มต้นโดยผู้สอนทักทายนักเรียน ทบทวนความรู้เดิมจากชั่วโมงที่แล้ว และชี้ประเด็นว่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการรักษาทางกายภาพบำบัดนั้น มีหลายชนิด ซึ่งผลทางสรีรวิทยาและผลการรักษาของกระแสไฟฟ้าแต่ละชนิด ขึ้นกับลักษณะของคลื่นไฟฟ้า ช่วงกระตุ้น ช่วงพัก และความแรงกระแสไฟฟ้า
   ผู้สอนแจ้งจุดประสงค์และกิจกรรมการเรียนการสอนว่า จะเรียนเรื่องเทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไฟตรงทางกายภาพบำบัด
  

   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
   ผู้สอนอธิบายลำดับขั้นตอนการฝึกปฏิบัติการที่ 4 ในคู่มือปฏิบัติการ และแนะนำให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติการทดลองตามคู่มือดังต่อไปนี้ 1) ทดสอบคุณสมบัติฟิสิกส์และเคมีของไฟฟ้า โดยการใช้ลวดหนีบกระดาษจุ่มในแก้วน้ำ เพื่อสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น และทดสอบความเป็นกรด-ด่างด้วยกระดาษลิสมัต ของขั้วไฟฟ้า โดยใช้กระแสไฟชนิดต่างๆ 2) สังเกตผลการตอบสนองของร่างกายบริเวณผิวหนังใต้ขั้วกระตุ้น ขณะกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกลแวนิกและ 3) เปรียบเทียบผลการตอบสนองของร่างกายบริเวณผิวหนังต่อกระแสไฟ DC และ IDC
   ผู้สอนแจกใบงานซึ่งเป็นประเด็นปัญหาให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อย เพื่อทำกิจกรรมการเรียนการสอน

   4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
   ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและจับประเด็นสำคัญของเนื้อหาในใบงานอย่างไตร่ตรอง และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหา วิเคราะห์ความหมายต่างๆของคำและเนื้อหาที่ให้ และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มย่อยต่อไป

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่น โดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
   ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียนให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ โดยผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปราย แสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
         ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
        เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน
   
    4.4 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
    ผู้สอนเสนอกรณีตัวอย่างใหม่ โดยให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวิธีวัดและแก้ปัญหา ร่วมกันเสนอแนวคิดและวิธีการที่เหมาะสม พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ
     ให้ร่วมกันนำเสนอโครงงานของกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย และร่วมกันอภิปราย และเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน


5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ


แนวคำถามแผนการสอนที่ 4


    1. เหตุใดจึงเรียกไฟชนิดที่ท่านได้เรียนไปว่า กระแสไฟแกลแวนิก ลักษณะสำคัญของกระแสไฟแกแวนิก เป็นอย่างไร ท่านสามารถอธิบายได้หรือไม่
    2. ในทางคลินิกปัจจุบัน มักนิยมใช้กระแสไฟแกแวนิกเพื่อทำประโยชน์อะไรบ้าง ท่านสามารถอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบได้หรือไม่
    3. ผลทางสรีรวิทยาที่สำคัญของกระแสไฟแกแวนิกมีอะไรบ้าง
    4. ผลที่เกิดขึ้นขณะกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกแวนิกที่ใต้ขั้วบวกและขั้วลบ แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ท่านสามารถเปรียบเทียบผลแตกต่างที่เกิดขึ้นใต้ขั้วกระตุ้นทั้งสองได้หรือไม่


ใบงานแผนการสอนที่ 4
-------------------------------------------------------------

1. คำชี้แจง
   1. หลังจากนักศึกษาได้อ่านเนื้อหาเรื่อง การกระตุ้นด้วยกระแสไฟแกลแวนิก (ได้มอบหมายให้อ่านล่วงหน้าก่อนการเรียนการสอน) และได้ฝึกปฏิบัติการที่ 5 หน้า86-92 ตามคู่มือแล้ว ให้พิจารณาประเด็นปัญหาที่ให้ โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาหารือผู้อื่น ใช้เวลา ประมาณ 20 นาที
   2. จากนั้นให้นักศึกษารวมกลุ่มย่อย และปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลาประมาณ 20 นาที
  3. นำเสนอข้อสรุปที่ได้ในกลุ่ม ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------

ให้ผู้เรียนพิจารณาและตอบคำถามในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้

   1.ท่านสามารถให้ความกระจ่างในประเด็นต่อไปนี้ได้หรือไม่ อย่างไร พร้อมทั้งยกเหตุผลประกอบ
      1.1 จริงหรือไม่ ที่มีผู้กล่าวว่ากระแสไฟแกลแวนิกหรือกระแสไฟตรง สร้างจากเซลล์ไฟฟ้า หรือกระแสสลับที่ผ่านวงจร rectifier
            จงอธิบายประเด็นดังกล่าว และตัวอย่างสิ่งที่พูดอย่างสมเหตุสมผล
      1.2 ผลของกระแสไฟแกลแวนิก ทำให้เกิด 1) ปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี 2) ไฟฟ้าความร้อน
            จงอธิบายประเด็นดังกล่าว และตัวอย่างสิ่งที่พูดอย่างสมเหตุสมผล
      1.3 กระแสไฟฟ้าแกลแวนิก ไม่นิยมใช้กระตุ้นเนื่องจาก 1) เกิดการไหม้พองง่าย 2) เกิดคันที่ผิวหนังบริเวณใต้ขั้วกระตุ้นเสมอๆ ซึ่งหากจำเป็นต้องกระตุ้น ท่านจะมีวิธีการป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร
            จงอธิบายประเด็นดังกล่าว และตัวอย่างสิ่งที่พูดอย่างสมเหตุสมผล

   2. ในทางคลินิกมักใช้กระแสไฟแกลแวนิกกระตุ้น/รักษา ในกรณีใดบ้าง
             จงอธิบายประเด็นดังกล่าว และตัวอย่างสิ่งที่พูดอย่างสมเหตุสมผล

   3. จงเปรียบเทียบผลกระแสไฟตรงอย่างต่อเนื่อง ที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังใต้ขั้วบวกและลบในประเด็นต่อไปนี้ 1) ผลของความร้อน 2) กรดและด่าง 3) ผื่นแดง 4) ความรู้สึกแสบ ร้อน หรือคัน5) ความอ่อนนุ่มของเนื้อเยื่อ 6) การลดปวด 7) การเกิดศักย์ไฟฟ้าใต้ขั้วกระตุ้น

   4. จงเปรียบเทียบผลการกระตุ้นที่สังเกตได้ จากการใช้กระแสไฟตรงอย่างต่อเนื่องด้วยเทคนิค monopolar ที่ผ่านขั้วกระตุ้นมือถือแบบ 1) กระแสไม่ผ่านสวิตซ์ และ 2) กระแสผ่านสวิตซ์

   5. จงแสดงวิธีการคำนวณช่วงเวลา (มิลลิวินาที) ที่น้อยที่สุดที่สามารถทำได้ ของการกดสวิตซ์ และปล่อยสวิตซ์ แต่ละครั้ง ขณะกดสวิตซ์ขั้วกระตุ้นมือถือ

   6. จงอภิปรายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการ เช่น การเกิดผื่นแดง การคัน อาการแสบร้อน เนื่องจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า และวิธีการแก้ไข

-----------------------------------------------------------

 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |