คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน | เอกสาร |
แผนการสอนที่ 7: การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟาราดิก (เวลา 4 คาบ)

 

1 ความคิดรวบยอด
       กระแสไฟฟาราดิกมักเป็นกระแสไฟ IDC ที่ปล่อยออกเป็นชุดๆ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าโดยทั่วไปสามารถปรับช่วงเวลากระตุ้นระหว่างชุดของกระแส ที่เรียกว่า surge on และ surge off (ช่วงกระตุ้นส่วนที่เป็น IDC ของกระแสไม่สามารถปรับค่าได้ มักถูกกำหนดมาจากโรงงาน) การกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟาราดิก จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวแบบเกร็ง (tetanic contraction) จึงมักใช้กระแสไฟฟาราดิกในการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง เช่น 1) กระตุ้นเพื่อฝึกความแข็งแรง 2) กระตุ้นเพื่อลดบวม 3) กระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของกล้ามเนื้อ 4) กระตุ้นเพื่อแก้ไขแนวกระดูกสันหลังคด 5) กระตุ้นเพื่อแก้ไขกระเพาะปัสสาวะที่ทำงานผิดปกติ

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
        1. อธิบายลักษณะเฉพาะของกระแสไฟฟาราดิกได้
        2. อธิบายการประยุกต์ใช้กระแสไฟฟาราดิกในทางคลินิก
        3. แสดงวิธีการกระตุ้นเพื่อลดบวมด้วยกระแสไฟฟาราดิกได้
        4. แสดงวิธีการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟาราดิกในน้ำได้

3. เนื้อหา

   1. กระแสไฟฟาราดิกมักใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง
   2. เทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟาราดิกทางคลินิกได้แก่ 1) การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 2) กระตุ้นเพื่อลดบวม 3) กระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของกล้ามเนื้อ 4) กระตุ้นเพื่อแก้ไขแนวกระดูกสันหลังคด 5) กระตุ้นเพื่อแก้ไขกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ
   3. เทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟาราดิกสามารถใช้ได้ทั้ง monopolar และbipolar technique
   4. การใช้กระแสไฟฟาราดิกกระตุ้นมักจะปรับกระแสไฟให้เห็นการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ โดยที่ผู้ถูกกระตุ้นสามารถทนต่อกระแสไฟได้
   5. การปรับช่วงที่ปล่อยกระแสและช่วงพักให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งค้างช่วงละประมาณ 6 วินาที เพื่อเลียนแบบการหดตัวตามธรรมชาติของกล้ามเนื้อ
       

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
    
    4.1 ขั้นนำ

     ผู้สอนทบทวนเรื่อง กระแสไฟ IDC และเทคนิคการใช้กระแสไฟ IDC ในชั่วโมงที่ผ่านมา และชี้ประเด็นให้เห็นว่า กระแส IDC เกิดจากกระแสไฟแกลแวนิกที่ปรับให้มีช่วงพักสลับกับช่วงกระตุ้น และสามารถทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อปกติ และกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง ทั้งนี้ขึ้นกับการปรับลักษณะของรูปคลื่น ช่วงกระตุ้น และช่วงพักที่เหมาะสม จากนั้นแจ้งวัตถุประสงค์และกิจกรรมการเรียนการสอน
  
   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
   ผู้สอนนำวิดีทัศน์ตัวอย่างเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อลดความอ้วน และเพิ่มความแข็งแรงของกล้าม เนื้อให้ผู้เรียนพิจารณา และแจกใบงานซึ่งเป็นประเด็นปัญหาให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อย

    4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
     ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงานซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้กระแสไฟฟาราดิก ในกรณีผู้ป่วยต่างๆ เช่น กระตุ้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง การฝึกการทำงานใหม่ของกล้ามเนื้อ กระตุ้นเพื่อลดบวม กระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของกล้ามเนื้อ และการกระตุ้นเพื่อแก้ไขอาการคดของแนวกระดูกสันหลัง และการเลือกใช้เทคนิคและวิธีการกระตุ้นผู้ป่วยในกรณีต่างๆ โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน ผู้เรียนสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารประกอบการสอนหรือหนังสือในห้องสมุดเพิ่มเติมได้ โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและตอบประเด็นปัญหาในใบงาน อย่างไตร่ตรอง และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหาและหาคำตอบในใบงานเป็นคำพูดของตนเอง และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มย่อยต่อไป

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่นโดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
   ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียนให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ โดยผู้สอนเร่งเร้าการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ร่วมกันอภิปรายแสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
         ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
         เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน

   4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ 
   1.ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติการเอง โดยการจับคู่กับเพื่อนสลับเป็นหุ่นและผู้กระตุ้น โดยการกระตุ้นกล้ามเนื้อบริเวณแขน ด้วยกระแสไฟฟ้าชนิดต่างๆ โดยใช้เทคนิคกระตุ้นหลายชนิด ตามคู่มือปฏิบัติการจนเกิดความมั่นใจ รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการกระตุ้น
   2.ร่วมกลุ่มย่อย เพื่ออภิปรายผลและปัญหาที่แต่ละคนพบจากการฝึก สรุปปัญหา และส่งตัวแทนเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาที่ได้รับมอบหมาย   3.เปรียบเทียบกับชนิดของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทแต่ละชนิด
   
    4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
    ผู้สอนเสนอประเด็นปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนค้นคว้าผ่าน web page ในหัวข้อการประยุกต์ใช้เทคนิค iontophoresis ทางการแพทย์ปัจจุบัน: ความก้าวหน้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยส่งรายงานภายใน 2 สัปดาห์
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานและปัญหาของกลุ่มระหว่างการทำงานที่ได้รับมอบหมาย


5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์


แนวคำถามแผนการสอนที่ 7


    1. จงอธิบายความแตกต่างระหว่างลักษณะของกระแสและเทคนิคการกระตุ้นด้วยกระแสไฟ IDC และกระแสไฟฟาราดิก ที่ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทตามที่ท่านทราบในทุกประเด็น
    2. กระแสไฟฟาราดิกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางคลินิกในกรณีใดบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ
    3. จากคำกล่าวที่ว่า "กระแสไฟฟาราดิกไม่ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง" ท่านเห็นด้วยกับคำกล่าวดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร จงแสดงเหตุผลและยกตัวอย่างที่สมเหตุสมผล


ใบงานแผนการสอนที่ 7
-------------------------------------------------------------

1. คำชี้แจง
   1. หลังจากนักศึกษาได้อ่านเนื้อหาเรื่อง การกระตุ้นด้วยกระแสไฟตรงแบบเป็นช่วงๆ (ได้มอบหมายให้อ่านล่วงหน้าก่อนการเรียนการสอน) ให้พิจารณาประเด็นปัญหาที่ให้ โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาหารือผู้อื่น ใช้เวลา ประมาณ 20 นาทีี
   2. จากนั้นให้นักศึกษารวมกลุ่มย่อย และปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลาประมาณ 20 นาที
  3. นำเสนอข้อสรุปที่ได้ในกลุ่ม ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------

   1) ท่านเชื่อหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้แสดงเหตุผลประกอบ
       1. เพราะเหตุใด กระแสไฟฟาราดิกจึงเป็นกระแสที่ไม่สามารถปรับช่วงกระตุ้นและช่วงพักได้ แต่ปรับได้เฉพาะช่วงที่ปล่อยไฟ (surge on) และช่วงที่ไม่มีไฟ (surge off) จงอธิบายประเด็นดังกล่าวและยกตัวอย่างประกอบสิ่งที่กล่าวอย่างสมเหตุสมผล
       2. กระแสไฟฟาราดิก ไม่สามารถทำให้ denervated muscle เกิดการตอบสนอง แต่จะเกิดการตอบสนองเฉพาะ innervated muscle ท่านเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายประเด็นดังกล่าวและยกตัวอย่างประกอบสิ่งที่กล่าวอย่างสมเหตุสมผล
       3. การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟาราดิก จะเจ็บและแสบกว่ากระตุ้นด้วยกระแสไฟ IDC ท่านเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายประเด็นดังกล่าวและยกตัวอย่างประกอบสิ่งที่กล่าวอย่างสมเหตุสมผล
      4. กระแสไฟฟาราดิกมักใช้ทางคลินิกเพื่อ 1) กระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรง 2) ฝึกการทำงานใหม่ (re-educated muscle) 3) กระตุ้นเพื่อลดบวม 4) กระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของกล้ามเนื้อ 5) กระตุ้นเพื่อแก้ไขแนวกระดูกสันหลังคด ท่านเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายประเด็นดังกล่าวและยกตัวอย่างประกอบสิ่งที่กล่าวอย่างสมเหตุสมผล

  2) ในฐานะที่ท่านเป็นนักกายภาพบำบัด
หากท่านจำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟาราดิก เพื่อกระตุ้น 1) กระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรง 2) ฝึกการทำงานใหม่ (re-educated muscle) 3) กระตุ้นเพื่อลดบวม 4) กระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของกล้ามเนื้อ 5) กระตุ้นเพื่อแก้ไขแนวกระดูกสันหลังคด
    1. ปรับไฟที่จะกระตุ้นอย่างไร ? (รูปคลื่น ช่วงกระตุ้น ช่วงพัก ความถี่ และความแรงของการกระตุ้น)
    2. กระตุ้นครั้งละนานกี่ชั่วโมง วันละกี่ครั้ง สัปดาห์/เดือนละกี่วัน และจะใช้เวลารักษานานเท่าไร
    3. ใช้เทคนิคใดเพื่อกระตุ้น (monopolar, bipolar technique etc…)
    4. มีลำดับขั้นตอนกระตุ้นอย่างไร
    5. จะต้องทราบข้อมูลเพิ่มเติมอะไรบ้างจึงจะมีความสมบูรณ์
    6. จงแสดงวิธีกระตุ้นมา 1 เทคนิค
  3) หลังจากปฏิบัติการตามเอกสารประกอบการสอนแล้ว ให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายสรุปถึงลักษณะสำคัญของกระแสไฟฟาราดิก และการใช้งานทางคลินิกปัจจุบัน โดยนำเสนอต่อกลุ่มใหญ

-----------------------------------------------------------

 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |