คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน |เอกสาร |
แผนการสอนที่ 2: กระแสไฟฟ้าที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัด 2 (เวลา 4 คาบ)

 

1 ความคิดรวบยอด
       กระแสไฟฟ้าที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัดนั้นมีหลายชนิดได้แก่ กระแสไฟแกลแวนิก, กระแสไฟตรงอย่างเป็นช่วงๆ, กระแสไฟฟาราดิก และกระแสเฉพาะอื่นๆ ที่เรียกชื่อแตกต่างกันออกไป ตามลักษณะของสัญญาณไฟฟ้า (wave form), ช่วงเวลากระตุ้น (pulse duration), ช่วงเวลาพัก (pause duration), และความถี่ (frequency) ของการกระตุ้น ลักษณะที่สำคัญของกระแสที่ใช้กระตุ้นเพื่อการรักษา มักมีปริมาณกระแสเฉลี่ยต่ำกว่า 10 มิลลิแอมแปร์ และมักกระตุ้นผ่านขั้วกระตุ้นที่วางอยู่บนผิวหนัง เครื่องมือที่ใช้วัดสัญญาณไฟฟ้า คือ ออสซิลโลสโคป (oscilloscope) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการทดสอบสัญญาณไฟฟ้า ที่ใช้สำหรับกระตุ้นกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
        1. อธิบายความหมายของคุณสมบัติพื้นฐานของกระแสไฟฟ้า ได้แก่ ความแรง ช่วงการกระตุ้น ช่วงพัก ความถี่ของการกระตุ้น ลักษณะของคลื่นกระแสไฟฟ้า และรูปแบบการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในการรักษาทางกายภาพบำบัดได้
       2. อธิบายลักษณะเฉพาะ และบอกความแตกต่างของกระแสไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัดได้
       3. อธิบายลักษณะ และหลักการทำงานของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้
       4. สามารถตรวจวัด และทดสอบสัญญาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้

3. เนื้อหา

  1. กระแสไฟฟ้าที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัดมีหลายชนิดได้แก่ 1) กระแสไฟตรงหรือกระแสไฟแกลแวนิก, 2) กระแสไฟตรงแบบเป็นช่วง, 3) กระแสไฟฟาราดิก 4) กระแสไดอะไดนามิกส์, 5) กระแสไฟทีอีเอ็นเอส, 6) กระแสไฟตรงศักย์สูง, 7) กระแสไฟอินเตอร์เฟอเรนเชียล
   2. กระแสไฟแต่ละชนิด จะมีความจำเพาะ และมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้า ได้ด้วยเครื่องวัดสัญญาณไฟฟ้า ออสซิลโลสโคป
   3. ความแตกต่างของกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท สามารถพิจารณาได้จาก 1) ลักษณะของคลื่นกระแสไฟฟ้า (wave forms), 2) ช่วงการกระตุ้นและช่วงพัก (pulse and pause duration), 3) ปริมาณกระแสสุทธิ (total current), 4) ความถี่ของกระแสไฟฟ้า (frequency), 5) รูปแบบการปล่อยของกระแสไฟฟ้า (pattern of current out put) เป็นต้น
   4. เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ใช้ทางกายภาพบำบัดโดยทั่วไปเป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างสัญญาณกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำ มักประกอบด้วยวงจรหลักๆดังต่อไปนี้ 1) วงจรจ่ายไฟ (power supply), 2) วงจรควบคุมช่วงการกระตุ้น, 3) วงจรปรับรูปคลื่นกระตุ้น, 4) วงจรขยายสัญญาณ เป็นต้น
  5. เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เป็นเครื่องมือที่ให้กระแสไฟฟ้าที่มีศักย์ไฟฟ้าต่ำ เหมาะกับการกระตุ้นเพื่อการรักษา ลักษณะเครื่องโดยทั่วไปมักประกอบด้วยปุ่มสำคัญดังต่อไปนี้ 1) ปุ่มปรับช่วงการกระตุ้น, 2) ปุ่มปรับความแรงของการกระตุ้น, 3) ปุ่มปรับความถี่การกระตุ้น, 4)ปุ่มตั้งเวลาเพื่อการกระตุ้น
   6. การเปรียบเทียบชนิดของกระแสไฟฟ้า จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งเรียกว่า ออสซิลโลสโคป
   7. วิธีการใช้ออสซิลโลสโคป สามารถกระทำได้โดยการต่อโพรบคร่อมระหว่างขั้วกระตุ้นทั้งสอง (ขณะเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อทำงาน) แล้วปรับค่าต่างๆของเครื่องวัด ให้เหมาะกับ ขนาดของสัญญาณที่ต้องการวัด อ่านค่าที่ได้จากหน้าปัทม์ ของเครื่องออสซิลโลสโคป

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
    
    4.1 ขั้นนำ

   1. ทบทวนความรู้เดิมของผู้เรียนสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ โดยเริ่มจากซักถามสิ่งที่ได้เรียนมาแล้วในชั่วโมงที่แล้ว ว่านักศึกษาทุกคนยังจำได้ว่า ชั่วโมงที่แล้วได้เรียนถึงการติดตั้งและการตรวจวัดกระแสไฟฟ้าที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัดเบื้องต้น ที่วัดเป็นปริมาณของกระแส และความต่างศักย์ ซึ่งวัดได้เป็นปริมาณ
   2. จากนั้นให้นักเรียนแต่ละคน แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่วัดนั้นสามารถบอกรายละเอียดของลักษณะกระแสหรือไม่ หากกระแสนั้นปล่อยออกมาอย่างไม่คงที่ เราจะมีวิธีการวัดลักษณะการปล่อยออกของกระแสอย่างไร และลักษณะรูปคลื่นกระแสไฟฟ้าที่เป็นสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยมจะมีวิธีตรวจสอบและวัดได้อย่างไร
   3. ผู้สอนแจ้งวัตถุประสงค์และกิจกรรมการเรียน

   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
   ผู้สอนแจกใบงานที่ 1-4 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่จะเรียนได้แก่ 1) หลักการทำงานของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท 2) ลักษณะพื้นฐานของกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้น 3) ชนิดของกระแสที่ใช้ทางกายภาพบำบัด 1 และ 4) กระแสไฟฟ้าที่ใช้ทางกายภาพบำบัด 2 ให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อย

    4.2.1 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
   ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงาน โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและจับประเด็นสำคัญของเนื้อหาในใบงานอย่างไตร่ตรอง และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหา วิเคราะห์ความหมายต่างๆของคำและเนื้อหาที่ให้ และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มย่อยต่อไป

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่น โดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
   ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียนให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ โดยผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปราย แสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
          ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน

   4.4 ขั้นพัฒนาทักษะ 
   1.ส่งตัวแทนไปฝึกการวัดสัญญาณไฟฟ้าโดยออสซิลโลสโคปก่อนเรียน 1 วัน ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยตัวแทนกลุ่มที่ส่งไปฝึกการวัดสัญญาณจะเป็นผู้สาธิต/และถ่ายทอดให้สมาชิกในกลุ่ม ขณะมีกิจกรรมการเรียนการสอน
   2.ผู้สอนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติการเอง โดย 1) ศึกษาการทำงานของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อ พิจารณาหน้าที่ของปุ่มต่างๆบนหน้าปัทม์ของเครื่อง 2)วัดสัญญาณไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทชนิดต่างๆ พร้อมทั้งวาดรูปสัญญาณไฟฟ้าที่ได้ตรวจพบ,    3.เปรียบเทียบกับชนิดของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทแต่ละชนิด
   4. ผู้สอนพยายามแนะนำ ตรวจสอบ สิ่งที่ผู้เรียนได้ทำการตรวจวัดสัญญาณ เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับผู้เรียนขณะปฏิบัติการ และอธิบายเพิ่มเติมเมื่อผู้เรียนมีข้อสงสัย
   5.ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันสรุป สาระหลักที่ได้จากการเรียนทั้งหมด เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถามข้อสงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ ผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนนักเรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมด อย่างชัดเจน

   4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
    ผู้สอนเสนอกรณีตัวอย่างในการวัดสัญญาณไฟฟ้าใหม่ โดยให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปรายวิธีวัดและแก้ปัญหา ร่วมกันเสนอแนวคิดและวิธีการที่เหมาะสม พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานและปัญหาของกลุ่มระหว่างการทำงานที่ได้รับมอบหมาย (การค้นคว้าบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นด้วยกระแสความถี่ต่ำ) ผู้สอนได้อธิบายและให้ความกระจ่างประเด็นที่ผู้เรียนสงสัย


5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์


แนวคำถามแผนการสอนที่ 2


1. ท่านสามารถให้ความกระจ่างของความหมายและหน่วยที่ใช้เรียก ของคำต่อไปนี้พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ ได้หรือไม่อย่างไร
    1.1 ลักษณะสัญญาณไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้น (wave form)
    1.2 ช่วงเวลากระตุ้นของกระแส (pulse duration)
    1.3 ช่วงเวลาพักของกระแส (pause duration)
    1.4 ความถี่ (frequency)
2. ท่านสามารถอธิบาย ลักษณะ พร้อมทั้งวาดรูปประกอบเพื่อแสดงกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นทางกายภาพบำบัดดังต่อไปนี้
    2.1 กระแสไฟตรง (galvanic)
    2.2 กระแสไฟสามเหลี่ยมที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆ (IDC สามเหลี่ยม) ที่มีช่วงกระตุ้น และช่วงพัก 3 และ 10 มิลลิวินาที
    2.3 กระแสไฟสี่เหลี่ยมที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆ (IDC สี่เหลี่ยม) ที่มีช่วงกระตุ้น และช่วงพัก 5 และ 8 มิลลิวินาที
    2.4 กระแสไฟฟาราดิก (faradic) ที่มีช่วงปล่อยไฟ (surge on) และช่วงที่ไม่ปล่อยไฟ (surge off) 5 และ 7 วินาที
    2.5 กระแสไฟไดอะไดนามิกส์ (diadynamic)
    2.6 กระแสไฟตรงศักย์สูง (high voltage galvanic)
    2.7 กระแสไฟอินเตอร์เฟอเรนเชียล (interferencial)
3. เครื่องออสซิลโลสโคปมีประโยชน์อย่างไร จงเขียนผังแสดงการต่อสายเพื่อวัดสัญญาณไฟฟ้า IDC รูปสามเหลี่ยม ปล่อยออกจากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อ ตามที่ท่านทราบ
4. จงอธิบายความแตกต่างของการวัดสัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยออกจากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท โดยใช้ โวลต์มิเตอร์ แอมป์มิเตอร์ มัลติมิเตอร์ และออสซิลโลสโคป


ใบงานแผนการสอนที่ 2
-------------------------------------------------------------

1. คำชี้แจง
   1. หลังจากนักศึกษาได้รับเนื้อหาใบงานที่ 1-4 ที่แจกให้อ่าน ให้พิจารณาเนื้อหาและประเด็นคำถามด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาหารือผู้อื่นใช้เวลาประมาณ 20 นาที
   2. ให้รวมกลุ่มย่อยและปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเนื้อหาและความคิดเห็นกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลา 20 นาที
  3. ส่งตัวแทนตามที่กำหนด นำเสนอกลุ่มใหญ่ ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------

ใบงานที่1 : หลักการทำงานของเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

          เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ใช้งานทางกายภาพบำบัด เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างสัญญาณไฟฟ้าความถี่ต่ำ มักเป็นกระแสไฟฟ้าตรง ซึ่งสามารถปรับความแรงกระแส ช่วงเวลาสำหรับการกระตุ้น และช่วงพักที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยทั่วไปมักประกอบด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ ได้แก่ 1) วงจรจ่ายไฟ ซึ่งทำหน้าที่แปลงไฟฟ้าสลับ เป็นกระแสไฟตรงเพื่อเลี้ยงวงจรย่อยอื่นๆ 2) วงจรควบคุมช่วงกระตุ้น ทำหน้าที่สร้างและควบคุมช่วงการกระตุ้น ช่วงพัก และความถี่ของกระแสไฟที่ใช้กระตุ้น 3) วงจรปรับรูปคลื่นกระตุ้น มักเป็นวงจรที่ควบคุมคลื่นกระแสไฟฟ้าให้ได้รูปตามที่ต้องการ เช่น กระแสไฟรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เป็นต้น 4) วงจรขยายสัญญาณ เป็นวงจรที่เพิ่มสัญญาณ/ความเข้มให้เหมาะสมกับความต้องการเพื่อการกระตุ้น
     ท่านสามารถเขียนผังการทำงานของวงจร เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อตามความเข้าใจของท่านได้หรือไม่ จงเขียนผังการทำงานของวงจรเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อตามที่ท่านเข้าใจ


--------------------------------------------------------------

ใบงานที่ 2: ลักษณะพื้นฐานของกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้น

           ลักษณะกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกจากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท มีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของกระแสไฟฟ้ามักพิจารณาจากลักษณะพื้นฐานดังต่อไปนี้
   1 ลักษณะของคลื่น (wave forms)
ลักษณะของคลื่นกระแสไฟฟ้าหากแบ่งตามสัญญาณที่ปล่อยออกแล้ว สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กระแสไฟเฟสเดียว (monophasic) กระแสไฟเฟสคู่ (biphasic) และกระแสไฟหลายเฟส (polyphasic) ซึ่งลักษณะของเฟสนั้นอาจเป็นรูป สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ฯลฯ
   จงเขียนรูปแสดงลักษณะกระแสชนิดต่างๆดังกล่าว ตามความเข้าใจของท่าน

   2. ช่วงกระตุ้นและช่วงพัก
กระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆ จะมีช่วงกระตุ้น (ช่วงที่มีกระแสไฟฟ้า) และข่วงพัก (ช่วงที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า) สลับกัน มักมีหน่วยเป็นมิลลิวินาที หรือน้อยกว่า
   จงเขียนรูปช่วงกระตุ้นและช่วงพักของกระแสตามความเข้าใจของท่าน

   3. ความถี่ของการกระตุ้น
เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อบางเครื่องมักจะมีปุ่มปรับความถี่แทนปุ่มปรับช่วงพัก ความถี่ของกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมักวัดเป็นหน่วย Hz (รอบ/วินาที) ซึ่ง ความถี่ 1 Hz มักหมายถึง 1/คาบ ซึ่งใน 1 คาบ มักประกอบด้วย หนึ่งช่วงกระตุ้นและหนึ่งช่วงพัก นั่นเอง
   จงเขียนสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ คาบ ช่วงกระตุ้น และช่วงพัก

  4. ปริมาณกระแสหรือความเข้มของกระแส
ปริมาณกระแสหรือความเข้มของกระแส ก็คือ ปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกจากเครื่องเพื่อส่งผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อทางขั้วกระตุ้น แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 1) ปริมาณกระแสสูงสุด (peak current) คือปริมาณสูงสุดของคลื่นกระแสในช่วงกระตุ้นหนึ่งๆ (ช่วงพักไม่มีกระแส) และ 2) ปริมาณกระแสเฉลี่ยหรือสุทธิ (total or average current) คือปริมาณกระแสเฉลี่ยที่ปล่อยออกใน 1 หน่วยเวลา หน่วยของความเข้มกระแสมักวัดเป็น มิลลิแอมแปร์ และ โวลต์ เครื่องกระตุ้นที่มีหน่วยวัดความเข้มเป็นแอมแปร์ เรียกว่า เครื่องกระตุ้นชนิด current constant ส่วนเครื่องกระตุ้นที่มีหน่วยวัดความเข้มกระแสเป็นโวลต์ เรียกว่า เครื่องกระตุ้นชนิด voltage constant
      ท่านทราบหรือไม่ว่า เหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น และจงอธิบายความหมายของ เครื่องกระตุ้นชนิด current constant และ voltage constant ตามความคิดของท่าน พร้อมทั้งยกเหตุผลประกอบคำอธิบายนั้น

   5 รูปแบบการปล่อยกระแส หรือ ชุดของการกระตุ้นและพัก
กระแสไฟฟ้า IDC ที่ประกอบด้วยช่วงกระตุ้นและช่วงพักนั้น เมื่อนำมาใช้งานยังสามารถควบคุมการปล่อยสัญญาณไฟฟ้าอีกด้วย เช่น 1) ปล่อยเป็นช่วงๆ อย่างต่อเนื่อง (continuous) หรือปล่อยอย่างเป็นขบวน (train) เช่น กระแสไฟ IDC, TENS เป็นต้น 2) กระแสที่ปล่อยออกเป็นชุดๆ (burst) ในแต่ละชุดที่ปล่อยออกนั้น อาจเป็นแบบค่อยๆเพิ่มสัญญาณขึ้น และลง (surge on, surge off) หรือเพิ่มและลดทันที เป็นต้น 3) กระแสที่ปล่อยเป็นชุดแบบค่อยๆเพิ่มและลด (ramp up and ramp down)
    ท่านคิดว่ากระแสที่ปล่อยออกเป็นชุดๆ (surge on and surge off) และกระแสที่ปล่อยเป็นชุดแบบค่อยๆเพิ่มและลด (ramp up and ramp down) ต่างกันอย่างไร จงเขียนรูปพร้อมอธิบายความแตกต่างนั้น


----------------------------------------------------


ใบงานที่ 3: ชนิดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทางกายภาพบำบัด(1)

             ชนิดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทางกายภาพบำบัด ได้แก่ 1) Galvanic Current (DC, True DC), 2) IDC (Interrupted Direct Current),3)Faradic Current4)Diady (Diadynamic Current),5)TENS (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation) 6) High Voltage (High Voltage Galvanic Current), 7) IFC (Interferential Current) ซึ่งชนิดของกระแสไฟฟ้าต่างๆดังได้กล่าวมาแล้วมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังต่อไปนี้
   1. Galvanic Current (DC, True DC) เป็นกระแสไฟตรง ที่ไม่มีช่วงพัก
   2. IDC (Interrupted Direct Current) เป็นกระแสไฟตรงที่ปล่อยออกเป็นช่วงๆ (IDC) สามารถปรับช่วงพักและช่วงกระตุ้นได้ มีรูปคลื่นได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น ไฟสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือรูปฟันเลื่อย
   3. Faradic Current ปัจจุบันเป็นกระแสไฟ IDC ที่มีช่วงกระตุ้น 1 มิลลิวินาที ที่ปล่อยออกเป็นชุดๆ ในแต่ละชุดมีความถี่ประมาณ 50-100 Hz (สร้างจากวงจรไฟฟ้าที่กำหนดมาจากโรงงาน ไม่สามารถปรับค่าได้) แต่จะสามารถปรับระยะเวลาของชุดที่ปล่อยไฟ และช่วงพักระหว่างชุด เรียกว่า surge on และ surge off มีหน่วยเป็นนาที
   4. Diady (Diadynamic Current) เป็นกระแสไฟ IDC มีรูปคลื่นเป็น รูปซาย์แบ่งครึ่ง ช่วงกระตุ้นประมาณ 10 มิลลิวินาที
     จงเขียนลักษณะรูปคลื่นของกระแสชนิดต่างๆ: DC, IDC Faradic, Diadynamic ดังกล่าวตามที่ท่านเข้าใจ
ท่านคิดว่ากระแสต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ใช้กระตุ้นเพื่อการรักษาทางกายภาพบำบัดในกรณีใดบ้าง จงบอกชนิดของกรณีที่กระตุ้นและชนิดกระแสที่ใช้มาอย่างพอสังเขป


------------------------------------------------------------------

ใบงานที่ 4: ชนิดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทางกายภาพบำบัด (2)

                ชนิดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทางกายภาพบำบัด ได้แก่ 1) Galvanic Current (DC, True DC), 2) IDC (Interrupted Direct Current),3)Faradic Current4)Diady (Diadynamic Current),5)TENS (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation) 6) High Voltage (High Voltage Galvanic Current, HVGC), 7) IFC (Interferential Current) ซึ่งชนิดของกระแสไฟฟ้าต่างๆดังได้กล่าวมาแล้วมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังต่อไปนี้
   5. TENS (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation) เป็นกระแสไฟ IDC ที่มีช่วงกระตุ้นน้อยกว่า 0.5 มิลลิวินาที ส่วนรูปคลื่นมีหลากหลาย ความถี่หากมากกว่า 50 Hz ขึ้นไปมักเรียกว่า conventional TENS หากมีความถี่ช่วง 2-4 Hz เรียกว่า acupuncture TENS มักใช้ร่วมกับการฝังเข็ม
   6. High Voltage (High Voltage Galvanic Current, HVGC) เป็นกระแสไฟ IDC ที่มีช่วงกระตุ้นน้อยมากมีหน่วยเป็นไมโครวินาที และมีความเข้มกระแส ชนิด peak current สูงมากกว่า 500 โวลต์ (กระแสไฟตามบ้าน 220 โวลต์ เหตุใดจึงนำมาใช้กระตุ้นและไม่เกิดอันตราย)
   7.IFC (Interferential Current) เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ 2 ขบวน ที่มีความถี่ประมาณ 2,000-4,000 Hz แทรกสอดกันจนเกิดความถี ที่เรียกว่า ความถี่ beat ที่เหมาะสำหรับการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
     จงเขียนลักษณะรูปคลื่นของกระแสชนิดต่างๆ: TENS, HVGC, IFC ดังกล่าวตามที่ท่านเข้าใจ
     ท่านคิดว่ากระแสต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ใช้กระตุ้นเพื่อการรักษาทางกายภาพบำบัดในกรณีใดบ้าง จงบอกชนิดของกรณีที่กระตุ้นและชนิดกระแสที่ใช้มาอย่างพอสังเขป

-----------------------------------------------------------

 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |