คำอธิบายรายวิชา
แผนการสอนที่ 1
แผนการสอนที่ 2
แผนการสอนที่ 5
แผนการสอนที่ 6
แผนการสอนที่ 7
แผนการสอนที่ 8
แผนการสอนที่ 9
แผนการสอนที่ 10
แผนการสอนที่ 11
แผนการสอนที่ 12
แผนการสอนที่ 13
แผนการสอนที่ 14
      
| จุดประสงค์ | เนื้อหา | กิจกรรมกรรม | การประเมิน | คำถามนำ | ใบงาน | เอกสาร |
แผนการสอนที่ 8: การหาจุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท (เวลา 4 คาบ)

 

1 ความคิดรวบยอด
       จุดมอเตอร์ (motor point) คือจุดที่เนื้อเยื่อที่ไวต่อตัวกระตุ้น (excitability tissue) มี threshold ต่อการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่ต่ำที่สุด ทำให้ใช้ปริมาณตัวกระตุ้นเพียงเล็กน้อย (โดยเฉพาะตัวกระตุ้นไฟฟ้า) เพื่อให้เกิดการตอบสนองของเนื้อเยื่อที่มากที่สุด โดยทั่วไปมักเป็นจุดที่ใยประสาทยนต์แทงเข้าสู่ใยกล้ามเนื้อ จุดมอเตอร์แบ่งได้เป็นจุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อ และจุดมอเตอร์ของเส้นประสาทยนต์ ในทางคลินิกมักใช้จุดมอเตอร์เป็นจุดที่วางขั้วกระตุ้น เนื่องจากเป็นจุดที่ใช้ปริมาณกระแสไฟฟ้าน้อยที่สุด เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อมากที่สุด เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อยที่สุด ลดผลแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าได้มากที่สุด

2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

     เมื่อจบการเรียนการสอนนี้แล้ว นักศึกษาสามารถ
        1. อธิบายความหมายของจุดมอเตอร์ได้
        2. อธิบายตำแหน่งและประโยชน์ของจุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อและเส้นประสาททางคลินิกได้
        3. แสดงวิธีการหาจุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทยนต์ของแขน ขา ลำตัว และใบหน้าในคนปกติ

3. เนื้อหา

   1.จุดมอเตอร์ (motor point) เป็นจุดที่เนื้อเยื่อที่ไวต่อตัวกระตุ้น (excitability tissue) มี threshold ต่อการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่ต่ำที่สุด (โดยเฉพาะตัวกระตุ้นไฟฟ้า)
   2.การวางขั้วกระตุ้นที่ตำแหน่งจุดมอเตอร์ทำให้ใช้ปริมาณไฟฟ้าน้อยที่สุด และทำให้เกิดการตอบสนองของเนื้อเยื่อโดยการหดตัวมากที่สุด
   3.จุดมอเตอร์มักเป็นจุดที่ใยประสาทแทงเข้าสู่ใยกล้ามเนื้อ ซึ่งในกล้ามเนื้อปกติมักจะอยู่ประมาณ 1/3 ตอนบนของกล้ามเนื้อมัดนั้น
   4.ผิวหนังที่หยาบแห้ง บวม หรือมีไขมันมากๆ ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีความต้านทานไฟฟ้าสูง มักจะหาจุดมอเตอร์ได้ยาก
  5.จุดมอเตอร์สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ จุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อซึ่งมักอยู่บริเวณกล้ามเนื้อนั้น และจุดมอเตอร์ของเส้นประสาทมักเป็นจุดที่เส้นประสาทอยู่ตื้นต่อผิวหนังนั้น
  6.การกระตุ้นไฟฟ้าที่จุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นหดตัว แต่หากกระตุ้นที่จุดมอเตอร์ของเส้นประสาทจะทำให้กล้ามเนื้อต่างๆหรือกลุ่มกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทนั้นหดตัวพร้อมกัน และหดตัวแรงกว่าไม่ได้กระตุ้นที่จุดมอเตอร์
  7.ในทางคลินิกมักใช้จุดมอเตอร์เป็นจุดวางขั้วกระตุ้น เนื่องจากเป็นจุดที่ใช้ปริมาณกระแสไฟฟ้าน้อยที่สุด ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย สามารถลดผลแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า
  8.วิธีการหาจุดมอเตอร์ คือการหาจุดหรือตำแหน่งวางขั้วกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าได้ดีที่สุด โดยใช้ความเข้มของกระแสน้อยและช่วงกระตุ้นที่สั้นที่สุด การหาจุดมอเตอร์มักใช้เทคนิคกระตุ้นแบบ monopolar และใช้ขั้วกระตุ้นชนิดมือถือเพื่อให้ได้จุดที่ต้องการ

4. กิจกรรมการเรียนการสอน
    
    4.1 ขั้นนำ

     ผู้สอนทบทวนเรื่องการกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาท และชี้ประเด็นให้เห็นว่า กระแส IDC ที่สามารถทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อนั้น ตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการกระตุ้นควรจะเป็นตำแหน่งที่ใช้กระแสไฟที่น้อยที่สุด เพราะจะทำให้ผู้ถูกกระตุ้นรู้สึกเจ็บน้อยที่สุด จุดนั้นคือ จุดมอเตอร์หรือ motor point นั่นเอง จากนั้นแจ้งวัตถุประสงค์และกิจกรรมการเรียนการสอน
  
   4.2 ขั้นสอน: เสนอปัญหา/เนื้อหา
   ผู้สอนสาธิตลำดับขั้นตอนของการหาจุดมอเตอร์ โดยใช้อาสาสมัครจากผู้เรียนเป็นหุ่น และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนสังเกต บันทึกลำดับขั้นตอนการหาจุดมอเตอร์ หากมีข้อสงสัยก็ให้ผู้เรียนสอบถามให้เกิดความกระจ่างได้ทันที จากนั้นผู้สอนแจกใบงานซึ่งเป็นประเด็นปัญหาให้กับผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มย่อย

     4.2.1 ขั้นพัฒนาทักษะ
     ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติกันเอง โดยการจับคู่กับเพื่อนสลับกันเป็นหุ่นและผู้กระตุ้น พยายามกระตุ้นตามคู่มือปฏิบัติการจนเกิดความมั่นใจ รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการกระตุ้น

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองรายบุคคล
     ผู้เรียนทำความเข้าใจกับใบงานซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้กระแสไฟฟาราดิก ในกรณีผู้ป่วยต่างๆ เช่น กระตุ้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง การฝึกการทำงานใหม่ของกล้ามเนื้อ กระตุ้นเพื่อลดบวม กระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของกล้ามเนื้อ และการกระตุ้นเพื่อแก้ไขอาการคดของแนวกระดูกสันหลัง และการเลือกใช้เทคนิคและวิธีการกระตุ้นผู้ป่วยในกรณีต่างๆ โดยการคิดพิจารณาด้วยตนเองอย่างอิสระตามลำพัง ห้ามมิให้ปรึกษาหารือกัน ผู้เรียนสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารประกอบการสอนหรือหนังสือในห้องสมุดเพิ่มเติมได้ โดยผู้สอนพยายามกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้เรียนอ่านและตอบประเด็นปัญหาในใบงาน อย่างไตร่ตรอง และพยายามสรุปประเด็นเนื้อหาและหาคำตอบในใบงานเป็นคำพูดของตนเอง และพยายามเขียนเป็นแผนภูมิ หรือ concept map เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มย่อยต่อไป

    4.2.2 กิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
   หลังจากที่ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้กระบวนการคิดของตนเองแล้ว ให้ผู้เรียนได้รวมกลุ่มย่อยกับเพื่อนที่ได้แบ่งกันไว้แล้ว เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนๆสมาชิกในกลุ่ม ได้มีโอกาสเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองคิดกับผู้อื่นโดยการนำเสนอเนื้อหาของตนเองที่ได้บันทึกไว้กับเพื่อนในกลุ่มซึ่งขณะที่นั่งฟังเพื่อนนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายและช่วยกันสรุปแนวคิดดังกล่าวนั้นให้เป็นแนวคิดของกลุ่ม ในรูปแผนภูมิมโนมติ (concept map) หรือตารางเพื่อนำเสนอในกลุ่มใหญ่ต่อไป

   4.2.3 การเสนอผลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อกลุ่มใหญ่
   ผู้สอนสุ่มกลุ่มผู้เรียนให้ส่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนำเสนอแนวคิดต่อประเด็นที่ให้ตามใบงานของกลุ่มต่อกลุ่มใหญ่ โดยผู้สอนเร่งเร้าการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ร่วมกันอภิปรายแสดงเหตุผลและความคิดเห็นของตน ของกลุ่มย่อย ต่อกลุ่มใหญ่รวมเป็นความคิดเห็นของชั้น

   4.3 ขั้นสรุป
         ผู้สอนร่วมกับผู้เรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ หรือความคิดรวบยอดของทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสรุปเนื้อหาตามหลักสูตร
         เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามประเด็นที่สงสัยทั้งหมด โดยเฉพาะในจุดที่ยังไม่เข้าใจ โดยผู้สอนจะอธิบายเพิ่มเติมจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจทั้งหมดอย่างชัดเจน

   
    4.5 ขั้นพัฒนาการนำไปใช้
    ผู้สอนเสนอประเด็นปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนค้นคว้าผ่าน web page ในหัวข้อการประยุกต์ใช้เทคนิค iontophoresis ทางการแพทย์ปัจจุบัน: ความก้าวหน้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

5. การประเมินผล
   เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้วผู้สอนจะประเมินผลการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
   1. ประเมินความรู้ความเข้าใจตามเนื้อหาในบทเรียน โดยการสอบย่อยท้ายในแต่ละเรื่อง โดยที่ทุกคนจะต้องทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ช่วยเหลือกันพยายามทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในที่สุด
   2. ประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนโดยใช้ผลงานผู้เรียนเป็นหลัก แบ่งออกเป็น
       1) ผลงานรายบุคคล เป็นผลงานที่ผู้เรียนแต่ละคนปฏิบัติขณะร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน
       2) ผลงานของกลุ่ม เป็นผลงานที่ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มในระหว่างที่ร่วมกิจกรรม
   3. การสะท้อนผลการทำงานของกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มประเมินการทำงานของตนเอง แล้วเสนอผลการประเมิน และสิ่งที่ต้องการปรับปรุงต่อไป
   4. ประเมินกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคณาจารย์ผู้ร่วมสอน โดยการสังเกตการทำกิจกรรมของผู้เรียนด้วยแบบประเมินพฤติกรรม และสุ่มสัมภาษณ์ผู้เรียนโดยแบบสัมภาษณ์


แนวคำถามแผนการสอนที่ 8


    1. หากต้องการกระตุ้นกล้ามเนื้อ biceps brachealis ให้เกิดการหดตัวแรงที่สุด โดยใช้กระแสไฟที่น้อยที่สุด จะมีวิธีการกระตุ้นอย่างไร
        1. ใช้กระแสไฟที่กระตุ้น ชนิดใด เพราะเหตุใด
        2. จะใช้เทคนิคการกระตุ้นอย่างไร?
        3. จะปรับช่วงกระตุ้นและช่วงพักอย่างไร?
        4. มีลำดับขั้นตอนการกระตุ้นอย่างไร?
    2. หากเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อที่ต้องการกระตุ้นนั้นถูกตัดขาด ท่านจะมีวิธีการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อนั้นเกิดการหดตัวได้อย่างไร
        1. ใช้กระแสไฟที่กระตุ้น ชนิดใด เพราะเหตุใด
        2. จะใช้เทคนิคการกระตุ้นอย่างไร?
        3. จะปรับช่วงกระตุ้นและช่วงพักอย่างไร?
        4. มีลำดับขั้นตอนการกระตุ้นอย่างไร?
    3. ให้แต่ละกลุ่มออกมาแข่งกันกระตุ้นหาจุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อแขน 3 มัด ภายใน 5 นาที


ใบงานแผนการสอนที่ 8
-------------------------------------------------------------

1. คำชี้แจง
   1. หลังจากนักศึกษาไได้ฝึกปฏิบัติการหาจุดมอเตอร์แล้ว ให้พิจารณาประเด็นปัญหาที่ให้ โดยนักศึกษาจะต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาหารือผู้อื่น ใช้เวลา ประมาณ 20 นาที
   2. จากนั้นให้นักศึกษารวมกลุ่มย่อย และปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันกับเพื่อนๆในกลุ่ม เป็นเวลาประมาณ 20 นาที
  3. นำเสนอข้อสรุปที่ได้ในกลุ่ม ใช้เวลากลุ่มละ 5 นาท

----------------------------------------------------------------

       1) จงให้คำจำกัดความของจุดมอเตอร์ ที่ท่านคิดว่าเหมาะสมที่สุด
       2) จุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทต่างกันอย่างไร และท่านจะทราบได้อย่างไรว่า จุดดังกล่าวนั้น เป็นจุดมอเตอร์ของกล้ามเนื้อหรือจุดมอเตอร์ของเส้นประสาท จงอธิบายเหตุผลสนับสนุนประเด็นดังกล่าว
       3) ตำแหน่งที่เป็นจุดมอเตอร์มักเป็นจุดเดียวกับจุดใดได้บ้าง จงยกตัวอย่างจุดที่มักเป็นจุดเดียวกับจุดมอเตอร์
       4) ท่านคิดว่าจุดมอเตอร์มีประโยชน์อะไรบ้าง จงบอกประโยชน์ของจุดมอเตอร์และเหตุผลสนับสนุน
       5) ท่านคิดว่าข้อจำกัดของการหาจุดมอเตอร์มีอะไรบ้าง จงอธิบายพร้อยยกตัวอย่างประกอบ
       6) ลำดับขั้นตอนของการหาจุดมอเตอร์ของท่าน เป็นอย่างไร
            1. เพราะเหตุใด จึงมีลำดับขั้นตอนดังกล่าว
            2. เทคนิคที่ดีที่สุดในการหาจุดมอเตอร์เป็นอย่างไร
            3. มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้างขณะฝึกปฏิบัติการ
            4. ท่านเห็นด้วยกับลำดับขั้นตอนที่ผู้สอนสาธิตไว้หรือไม่อย่างไร
      7) ท่านสามารถอธิบายปัญหา/อุปสรรค/แนวทางแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ได้หรือไม่ อย่างไร
            1. กล้ามเนื้อที่ต้องการกระตุ้นไม่เกิดการหดตัว หรือหดตัวน้อย
            2. กล้ามเนื้อที่ไม่ต้องการกระตุ้นหดตัว หรือหดตัวมากกว่ากล้ามเนื้อที่ต้องการกระตุ้น
            3. ขณะทำการกระตุ้นแล้วผู้ถูกกระตุ้นรู้สึกเจ็บมาก และทนไม่ไหว
            4. ผู้ถูกกระตุ้นรู้สึกเจ็บแสบ และคันบริเวณที่ถูกกระตุ้นมาก
            5. อื่นๆ ่

-----------------------------------------------------------

 
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น: จ.ขอนแก่น 40002
Copyright @ 2003 , All right reserved | Comments & Suggestions : somch_ra@kku.ac.th |